เชื่อว่าหลายคนคงจะรู้แล้วว่า ระบบ POS ร้านอาหาร คืออะไร แต่ส่วนใหญ่จะยังคิดว่า ระบบ POS ที่ใช้สำหรับร้านอาหาร ก็เป็นแค่เครื่องคิดเงิน เก็บเงิน และคงไม่มีอะไรไปมากกว่านั้น .. ในความเป็นจริง โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลแบบนี้ ระบบ POS ได้ถูกพัฒนามาใช้กับร้านอาหารพร้อมประโยชน์มากมายที่ช่วยเพิ่มยอดขายหน้าร้านได้ และยังช่วยให้เจ้าของร้าน หรือผู้บริหารร้านได้เก็บข้อมูล หรือสถิติไว้ใช้ประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจได้อีกด้วย
ก่อนหน้าที่เคยพูดถึงระบบ POS ร้านค้าปลีกมาแล้ว ในมุมของอนาคตระบบ POS หลังจากสถานการณ์ COVID-19 โดยในบทความนี้เราจะพาคุณมาทำความรู้จักกับระบบ POS ร้านอาหารในยุคดิจิทัล รวมถึงประโยชน์ 15 ข้อ ที่จะช่วยให้ร้านอาหารมีประสิทธิภาพในด้าน Flow ของการทำงาน และช่วยเพิ่มยอดขาย ลดต้นทุน ได้ดียิ่งขึ้นในยุคนี้ที่มีการแข่งขันกันสูง และผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้น .. ถึงแม้ในช่วง COVID-19 จะยังไม่สามารถเปิดร้านได้เต็มตัว แต่ก็ควรศึกษาเอาไว้เตรียมพร้อมเมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ
ซึ่งขอบอกก่อนว่าบทความนี้เราไม่ได้ Sponsor จากแบรนด์ POS ใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งหมดนี้คือความรู้ที่เราอยากเอามาแชร์เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจร้านอาหาร จะเลือกใช้แบรนด์ไหนต้องลองไปเลือกกันอันทีนะครับ
ระบบ POS ร้านอาหาร คืออะไร
ระบบ POS สำหรับใช้ในร้านอาหาร รวมถึงร้านกาแฟ ประกอบไปด้วยฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ ที่ช่วยทำให้การจัดการร้านอาหารเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่แค่ในขั้นตอนของการชำระเงิน เก็บเงิน หรือออกบิล แต่มันสามารถช่วยสนับสนุนทั้ง Flow ของธุรกิจได้อย่างไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะระบบ POS สมัยใหม่ ที่ถูกพัฒนามาให้ตอบโจทย์ Flow ต่างๆ ในธุรกิจนี้ได้มากที่สุด
ซึ่งหัวใจ 3 อย่างที่ระบบ POS จะเข้ามาช่วย คือ เรื่องการเพิ่มยอดขาย เพิ่มประสบการณ์ลูกค้า และเพิ่มความสามารถในการตัดสินใจเชิงธุรกิจ หากคุณกำลังจะเลือกซื้อระบบ POS มาใช้งาน ให้ลองศึกษาก่อนว่าระบบของแบรนด์นั้นๆ สามารถช่วยสนับสนุนทั้ง 3 ด้านนี้ได้หรือไม่ หรือดีแค่ไหน
ตัวอย่างระบบ POS ร้านอาหารสมัยใหม่
หากคุณไปกินสุกี้ร้าน MK จะสังเกตได้ว่าหลายสาขา (ไม่แน่ใจว่าทุกสาขาแล้วหรือยัง) จะเริ่มมีหน้าจอเสียบอยู่ที่ทุกโต๊ะ โดยลูกค้าสามารถกดสั่งอาหารเองได้เลย ซึ่งเจ้าสิ่งนี้ก็เป็นหนึ่งส่วนของระบบ POS ในร้าน MK โดยเราอาจจะไม่ค่อยคุ้นเท่าไหร่ เพราะจากแต่ก่อนพนักงานต้องมารับออเดอร์ แต่ตอนนี้ลูกค้าเป็นผู้กดสั่งออเดอร์เอง กดเรียกเช็คบิลเอง พนักงานมีหน้าที่แค่มาบริการ เอาน้ำมาให้ เสิร์ฟอาหาร หรือตอบคำถามเกี่ยวกับเมนูเล็กๆ น้อยๆ
ซึ่งระบบนี้ช่วยให้ Flow ในการทำงานรวดเร็วขึ้นมาก ลดพนักงานในการทำงาน หรือไม่ก็อาจมีพนักงานเท่าเดิม แต่พนักงานแต่ละคนก็จะมีเวลามากขึ้นในการดูแลความเรียบร้อยของร้าน หรือบริการลูกค้าเพื่อเพิ่มความประทับใจ และประสบการณ์ดีๆ ทั้งนี้ยังช่วยลดโอกาสการผิดพลาดในการสั่งอาหารที่อาจเกิดขึ้นจากพนักงาน เพราะก่อนกดสั่ง ลูกค้าสามารถดูสรุปได้เลยว่าเป็นเมนูตามที่ตัวเองต้องการหรือเปล่า
ร้านอาหารเป็นหนึ่งในธุรกิจที่น่าลงทุน การนำเทคโนโลยีมาใช้จะช่วยให้ร้านคุณเหนือกว่าคู่แข่งได้ .. ในบทความนี้ เราจะมาแชร์ 15 อย่างที่ระบบ POS สามารถช่วยเพิ่มยอดขายให้ร้านอาหาร หรือร้านกาแฟของคุณได้ มากกว่าแค่การเก็บเงิน และคิดเงิน
15 ประโยชน์ที่ ระบบ POS ร้านอาหาร สามารถช่วยเพิ่มยอดขายให้กับทางร้านได้
ประโยชน์ของ POS มีมากมาย แต่ในบทความนี้ เราจะมาโฟกัสกันที่ 15 เรื่อง โดยใน 15 เรื่องนี้ เราจะแบ่งออกเป็นหัวข้อหลักๆ 3 หัวข้อคือ
- ประโยชน์ด้านการเพิ่มยอดขาย ข้อ 1-5
- ประโยชน์ด้านการเพิ่มประสบการณ์ดีๆ ให้ลูกค้า ข้อ 6-10
- ประโยชน์ด้านธุรกิจ และการตัดสินใจ ข้อ 11-15
ซึ่งเราหาข้อมูลเกี่ยวกับระบบ POS รุ่นใหม่ๆ ในหลายๆ ประเทศ เพื่อที่จะให้ได้เห็นภาพว่า ระบบ POS ร้านอาหาร ถูกพัฒนาไปถึงไหนแล้ว สำหรับระบบ POS ในไทย ก็อาจต้องลองไปดูแต่ละแบรนด์อีกทีว่ามี Feature เหล่านี้มากน้อยแค่ไหน
1. ปรับโครงสร้างราคาให้เหมาะกับต้นทุน
ระบบ POS สามารถเก็บข้อมูลได้ว่า แต่ละเมนูมีต้นทุนในการผลิตเท่าไหร่ และเมื่อเทียบกับราคาขายแล้ว ร้านอาหารได้กำไรกี่ % ซึ่งระบบก็จะสรุปมาให้เป็นรายวัน หรือรายเมนูได้
ซึ่งคุณสามารถเช็คดูได้ตลอดเวลา ราคาที่ตั้งขายนั้นสมเหตุสมผลกับต้นทุนหรือเปล่า เช่น หาก เมนูโกโก้เย็นมีคนสั่งเยอะมาก คุณอาจจะคิดว่าเมนูนี้คือตัวทำเงินของร้าน แต่เมื่อลองดูสรุปยอดจากระบบ POS แล้วพบว่าจริงๆ เมนูนี้มี Margin ไม่เยอะเลย ก็อาจถึงเวลาที่คุณจะต้องลองเช็คดูว่าปัญหาคือราคาขายที่ต่ำเกิน หรือต้นทุนที่สูงเกิน จากนั้นก็ต้องปรับโครงสร้างราคาใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับต้นทุน และความสามารถในการจ่ายของลูกค้า ซึ่งก็จะช่วยเพิ่มกำไรให้ร้านมากขึ้น
2. ปรับการจัดวางเมนู
การออกแบบเมนู โดยเฉพาะเมนูที่รวมทุกอย่างอยู่ในหน้าเดียว จะมีหลักๆ ที่เรียกว่า Golden Triangle หรือสามเหลี่นมทองคำ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ลูกค้ามักจะโฟกัสเป็นพิเศษเวลาดูเมนู
หากระบบ POS เก็บผลการขายในช่วงที่ผ่านมา จนเริ่มรู้แล้วว่า เมนูไหนยอดนิยม คุณก็สามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาประกอบการออกแบบเมนได้ โดยอาจเอาเมนูยอดนิยมเหล่านี้ ให้มาอยู่ในพื้นที่ Golden Triangle เพื่อให้ลูกค้าเห็นมากขึ้น และเพิ่มโอกาสในการสั่งซื้อมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ กลับไปดูข้อ 1 ก่อน เพราะหากเมนูไหนขายดี แต่กำไรน้อย หรือกำไรไม่มี ถ้ามาอยู่ใน Golden Triangle อาจทำให้กำไรกหดได้นะครับ
3. เพิ่มยอดขายต่อหัว
การเพิ่มยอดขายต่อหัว หรือ per head คงหนีไม่พ้นการทำ Up-selling เช่น หากลูกค้าสั่ง สปาเก็ตตี้ซอสเนื้อ มีโอกาสจะสั่ง ขนมปังกระเทียม มาทานคู่กัน
โดยปกติแล้วก็ต้องพึ่งความสามารถของพนักงานในการจำว่า หากลูกค้าสั่งสปาเก็ตตี้ซอสเนื้อ ให้สอบถามเพิ่มเติมด้วยว่า สนใจขนมปังกระเทียมมาทานด้วยไหม
แล้วถ้าพนักงานลืมล่ะ? ในระบบ POS ร้านอาหาร บางระบบ จะมีเมนูสำหรับ Up-sell เด่งขึ้นมาบนอุปกรณ์ที่ใช้กดสั่งออเดอร์เลย เช่น หากพนักงานเลือกเมนูสปาเก็ตตี้ซอสเนื้อในเครื่อง ระบบก็จะแสดงลิสต์ของเมนูอื่นสำหรับ Up-sell ขึ้นมาเลย พนักงานก็ไม่ต้องจำ การเทรนด์พนักงานใหม่ก็สามารถเป็นไปได้ง่ายขึ้น
4. สร้างแคมเปญการตลาดให้ตรงกลุ่มลูกค้า
ระบบ POS สามารถเก็บข้อมูลลูกค้าได้ โดยเฉพาะลูกค้าที่ลงทะเบียนเป็นสมาชิกกับทางร้าน ซึ่งทางร้านก็จะสามารถบันทึกพฤติกรรมการสั่งอาหาร เมนูที่ลูกค้านั้นๆ ชอบ และสามารถจัดแคมเปญการตลาดได้ตรงกับลูกค้าแต่ละคน
เช่น หากคุณไม่ได้เก็บข้อมูล และจัดแคมเปญแถม New York Cheese Cake เมื่อสั่งสปาเก็ตตี้ซอสเนื้อให้กับทุกคน ก็อาจมีบางคนที่ไม่ชอบ New York Cheese Cake แต่หากคุณเก็บข้อมูลลูกค้าไว้ คุณอาจจะมีแคมเปญกลางๆ แถม New York Cheese Cake ในขณะเดียวกัน หากลูกค้าเก่าที่คุณมีข้อมูลมาสั่งอาหาร คุณอาจบอกว่าสามารถเปลี่ยนของแถมเป็น Blueberry Cheese Pie ก็ได้
5. รองรับการสั่งออนไลน์ หรือจาก Delivery App
POS ร้านอาหารสมัยใหม่มักจะมี Feature นี้อยู่แล้ว เพราะการสั่งอาหารออนไลน์ช่วงนี้ โดยเฉพาะช่วง COVID-19 ถือเป็นช่องทางหลักเลยก็ได้
ซึ่งหากคุณมีหน้าร้านอาหารที่เปิดให้บริการหน้าร้าน หรือแบบ Offline อยู่แล้ว และไม่มีระบบ POS ที่รองรับการสั่งออนไลน์ ก็อาจทำให้การบริหารจัดการออเดอร์ รวมถึงการสรุปยอดไม่มีประสิทธิภาพ และอาจผิดพลาดได้
การมีระบบ POS ที่รองรับการสั่งจากช่องทางออนไลน์ ทำให้คุณสามารถบริการออเดอร์ บริหารต้นทุน และการขายได้ดียิ่งขึ้น
6. รองรับการชำระเงินออนไลน์ หรือ Mobile Payment
จากสถิติโดยรวม 44% ของลูกค้าเริ่มขอชำระเงินผ่าน Mobile Payment ซึ่งคุณอาจคิดว่า ถึงไม่มี POS ก็ใหลูกค้าสแกนผ่าน Banking Application ได้ แต่รายการเหล่านั้นมันอาจไม่ได้ถูกบันทึกเข้ากับระบบ POS และสุดท้ายก็จะต้องแยกดูข้อมูลกัน ซึ่งอาจเป็นการเสียเวลาได้
ซึ่งในอนาคต ยังไงเทรนด์ Cashless Society ก็คงเกิดขึ้นแน่นอน การมีระบบ POS ที่รองรับไว้ก็ถือเป็นการลงทุนในระยะยาวเพื่อให้เข้ากับเทรนด์ และพฤติกรรมของคนในอนาคต
7. Track ผลการทำงานของพนักงานได้
ระบบ POS บางระบบจะสามารถ Track ได้ว่าพนักงานขายอะไรไปบ้าง มีกี่ Order และใช้เวลานานเท่าไหร่ในการดูแลลูกค้าแต่ละโต๊ะ รวมไปถึงการดูความผิดพลาดของออเดอร์ เช่น บันทึกผิด เสิร์ฟผิด ลูกค้ายกเลิก โดยสามารถใช้ตัวเลขจากการ Track ข้อมูลเหล่านี้เพื่อวัดผล และประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานที่สะท้อนถึงประสบการณ์ของลูกค้า
ซึ่งคุณก็ต้องคอย Monitor ผลเหล่านี้อยู่เป็นประจำ และดูว่าข้อบกพร่องในแต่ละส่วนมีสาเหตุมาจากอะไร จะได้ดำเนินการแก้ไข เพราะบางทีอาจไม่ได้มาจากตัวพนักงานหน้าร้านอย่างเดียว อาจพลาดมาตั้งแต่ขั้นตอนการอบรมก็เป็นได้ สิ่งสำคัญคือต้องวิเคราะห์ต้นตอของปัญหาให้ถูก
8. ลดความผิดพลาดในการสั่งอาหาร
การใช้มือจดเมนูต้องใช้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เฉพาะบุคคลพอสมควร เพราะการจดต้องมีความรวดเร็ว ซึ่งอาจต้องใช้ตัวย่อต่างๆ แทนการเขียนเต็มๆ ซึ่งสามารถเกิดความผิดพลาดได้ เช่น คนจดออเดอร์จดผิด หรือพนักงานในครัวอ่านไม่ออก หรืออ่านผิด
ความผิดพลาดเหล่านี้ส่งผลให้ความประทับใจของลูกค้าลดลง และร้านอาหารเองก็เสียเงินจากการทำเมนูผิดด้วย เช่น ลูกค้าสั่งสปาเก็ตตี้หมู แต่ดันไปทำเนื้อมาเสิร์ฟ ยังไงก็ต้องทำใหม่
การใช้ระบบ POS ที่สามารถให้พนักงานรับออเดอร์กดเลือกเมนูได้ง่ายๆ รวมถึงมีให้ใส่ Note เพิ่มเติมในแต่ละเมนู ก็จะช่วยลดความผิดพลาดได้ คนรับออเดอร์ในครัวก็สามารถอ่านออเดอร์ได้อย่างเป็นระบบ และหากมีพนักงานมาใหม่ ก็จะสามารถเรียนรู้กับระบบเหล่านี้ได้เร็ว ไม่ต้องใช้ประสบการณ์ในการแกะลายมือ หรือจำตัวย่อต่างๆ
9. ลดความผิดพลาดในการสื่อการระหว่างหน้าร้านกับในครัว
ระบบ POS จะแสดงผลออเดอร์ที่พนักงานได้บันทึกมาจากโต๊ะลูกค้าไปยังหน้าจอที่อยู่ในครัวโดยอัตโนมัติ หรือบางระบบอาจจะปริ้นออกมาเป็นตั๋ว และนำไปแปะในครัว ซึ่งหน้าจอการแสดงผลหรือตั๋วที่ปริ้นออกมาก็จะมี Format ของมัน มีความเป็นระเบียบ และเป็นระบบ ซึ่งช่วยลดความผิดพลาดในการทำอาหาร เช่น ลืมทำบางเมนู หรือข้ามออเดอร์ของบางโต๊ะ เป็นต้น
เช่นเดียวกับที่พูดในข้อ 8 ในเรื่องของ Note ต่างๆ ที่ลูกค้าขอปรับ เช่น ไม่ใส่พริก แพ้ผงชูรส ไม่กินเนื้อ ข้อมูลเหล่านี้ก็จะถูกแสดงขึ้นมาด้วย เชฟก็จะสามารถอ่านได้ง่าย ลดความผิดพลาด
10. POS บางระบบสามารถแยกการชำระเงินได้
ลูกค้าบางโต๊ะมาเป็นกลุ่ม และอาจจะอยากแยกชำระเงิน โดย POS บางระบบจะสามารถเลือกได้เลยว่า ลูกค้าต้องการแยกชำระ ระบบก็จะรองรับการรูดบัตรหลายๆ ใบโดยหารตามจำนวนคนเป็นต้น
ยิ่งไปกว่านั้น POS บางระบบจะสามารถแยกออเดอร์ของลูกค้าแต่ละคนได้ด้วย เช่น ในโต๊ะมี 6 คน 4 คนสั่งแอลกกอฮอร์ ในขณะที่ 2 คนไม่ดื่ม ก็สามารถแยกส่วนกันจ่ายได้ 2 คนที่ไม่ได้ดื่มก็ไม่ต้องชำระในส่วนของค่าแอลกอฮอร์
11. ดูรายงานประจำวัน
หากทำระบบแบบ Manual การที่จะมาดูรีพอร์ทรายงานในแต่ละวันอาจเป็นเรื่องที่เสียเวลากว่าจะมาคิดบัญชี บวกลบยอดต่างๆ กว่ารีพอร์ทจะออกมาก็เหนื่อยแล้ว
การใช้ระบบ POS สำหรับร้านอาหาร หรือร้านกาแฟ จะช่วยในการของการ Generate รายงานประจำวันได้สะดวก รวดเร็ว และเม่นยำยิ่งขึ้น สามารถคลิกไม่กี่ปุ่มรายงานก็ออกมาเลย เจ้าของร้านก็สามารถใช้เวลาที่เหลือมานั่งวิเคราะห์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินในธุรกิจมากกว่า
ซึ่งการมาดูรีพอร์ททุกวันทำให้เจ้าของร้าน หรือผู้บริการร้านได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละวันได้ชัดเจน รวมถึงเทรนด์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในร้าน และหากมีข้อผิดพลาดอะไรก็สามารถนำไปปรับปรุงได้รวดเร็ว
12. ใช้ POS บริหารการจ้างพนักงานหน้าร้านอาหาร
แน่นอนว่าร้านอาหารส่วนใหญ่จะมี Peak Hour เป็นช่วงๆ การใช้ระบบ POS มาดูรีพอร์ทในแต่ละวัน และช่วงเวลาช่วยให้เจ้าของร้านเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า ในแต่ละวันมี Peak Hour ช่วงไหนบ้าง ในแต่ละวัน Peak Hour เป็นช่วงเดียวกันหรือคนละช่วง
ข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้คุณนำไปจัดการการจ้างพนักงานหน้าร้านได้ เช่น หากช่วงเย็นเป็น Peak Hour ในขณะที่เวลาอื่นมีลูกค้าไม่มาก คุณอาจอาจจะไปเพิ่มการจ้าง Part Time เฉพาะในช่วงตอนเย็น แทนการจ้างพนักงานประจำเพิ่ม
เรื่องนี้อาจดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่มีบางร้านที่หากดูยอดรวมๆ เหมือนจะขายดีทั้งวัน และโดยเฉพาะร้านที่เจ้าของไม่ได้ลงมาดูเอง เลยจ้างพนักงานมาเยอะ แต่พอมาดูรายละเอียดแล้ว กลายเป็นว่า กลางวันเป็น Take Away ซะส่วนใหญ่ (ไม่จำเป็นต้องใช้พนักงานเสิร์ฟเยอะๆ) ในขณะที่ตอนเย็นคนมาทานที่ร้าน ทำให้ตอนกลางวันพนักงานหน้าร้านที่จ้างมาเพิ่มก็ไม่ค่อยได้ทำอะไรมาก ในขณะที่ค่าจ้างก็ต้องเสีย
13. เจาะลึกเทรนด์และ Insight ในร้านของตัวเอง
พฤติกรรมของลูกค้าแต่ละร้านแตกต่างกัน และยิ่งในยุคนี้เป็นยุคที่แข่งกันด้วย Data ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ Offline แบบมีหน้าร้านก็ยังต้องพึ่ง Data อยู่ดี
ระบบ POS จะช่วยให้คุณมี Data ที่เกี่ยวข้องกับร้านของตัวเองทั้งหมด สามารถนำมาวิเคราะห์เทรนด์ และ Insight ต่างๆ ได้ โดยอาจดูเป็นช่วง 7 วันที่ผ่านมา 1 เดือนที่ผ่านมา หรือจะเอามาวิเคราะห์ Quarter หรือทั้งปีก็ได้
ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์ต่อการบริหารจัดการร้าน จัดการเมนู จัดการโปรโมชั่นต่างๆ ให้ตรงความต้องการของลูกค้ามากยิ่งขึ้น เช่น หากคุณพบว่า ลูกค้ามักจะสั่งเมนู A คู่กับเครื่องดื่ม B ก็อาจจะเอา 2 เมนูจับมาทำโปรโมชั่นคู่กันเป็นต้น หรือบางทีไม่จำเป็นต้องมาจัดโปรโมชั่น เพียงแค่จับ 2 เมนูนี้มาอยู่ใกล้ๆ กันในเล่มเมนู ก็อาจทำให้ลูกค้าสั่งเพิ่มได้โดยไม่ต้องจัดโปรโมชั่นและลดราคา
หรือจะเป็นตัวอย่างในข้อ 12 ก็เป็นการนำ Data ที่ได้มาใช้บริการเพื่อลดต้นทุนได้เหมือนกัน
14. วัดผลแคมเปญการตลาด ทำ A/B Testing ได้
ใครเคยศึกษาเกี่ยวกับการตลาดออนไลน์หรือโฆษณาออนไลน์น่าจะคุ้นเคยกับการทำ A/B Testing หรือการทดสอบว่าอะไรดีกว่ากัน เช่น โฆษณา A กับ โฆษณา B ตัวไหนสร้างยอดขายออนไลน์ได้มากกว่า..
เชื่อหรือไม่ A/B Testing ก็เอามาใช้การร้านอาหารได้!
การที่คุณจัดโปรโมชั่นในร้าน บางทีเราไม่รู้หรอกว่าแบบไหนจะถูกใจลูกค้าที่สุด และลูกค้าแต่ละช่วงเวลา หรือแต่ละกลุ่มก็อาจถูกดึงดูดด้วยโปรโมชั่นที่ต่างกัน ดังนั้นการทดสอบจึงสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
คุณอาจทำแคมเปญ A และแคมเปญ B สำหรับมื้อเที่ยงเพื่อทดสอบดูว่าโปรโมชั่นไหนเพิ่มยอดขายได้มากกว่า และทดสอบอีกครั้งสำหรับมื้อเย็นว่าต้องไหนเพิ่มยอดขายได้มากกว่า
เพราะบางครั้ง A อาจขายดีตอนเที่ยง ในขณะที่ B อาจขายดีตอนเย็นก็เป็นได้
การวัดผลการตลาด และการจัดโปรโมชั่นหน้าร้านจึงเป็นการช่วยเพิ่มยอดขายได้ไปในตัว
15. จัดการวัตถุดิบได้แม่นยำยิ่งขึ้น
ระบบ POS ร้านอาหาร บางระบบจะช่วยดูได้ถึงวัตถุดิบที่อยู่ในสต็อก ทำให้สามารถรู้ได้เลยว่าเดิมมีเท่าไหร่ หมดไปเท่าไหร่กับเมนูอะไร และยังเหลือเท่าไหร่ ซึ่งหากวัตถุดิบตัวไหนใกล้หมด ในครัวก็จะทราบได้ก่อน ช่วยให้สามารถนำไปจัดหาเพิ่มเติมได้ทัน
ยิ่งไปกว่านั้น หากคุณเก็บ Data เป็นเทรนด์ ก็จะเริ่มเห็นภาพแล้วว่าอะไรใช้เยอะ อะไรใช้น้อย สามารถนไปวางแผนการสั่งซื้อ และปริมาณในการสั่งซื้อได้ เช่นหากคุณพบว่าวัตถุดิบ A มีการนำไปใช้เยอะมาก และวัตถุดิบตัวนี้สามารถเก็บได้นาน ไม่หมดอายุง่ายๆ ก็อาจจะสั่งเพิ่มมาในล็อกที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งสามารถไปต่อรองกับ Supplier เพื่อขอราคาที่ถูกลงได้ด้วย
หรือวัตถุดิบบางตัวอาจสั่งมาเยอะเกิน และใช้ไม่เคยหมด ก็หมดอายุเสียก่อน ก็อาจต้องวางแผนการสั่งซื้อใหม่ เพื่อให้พอดีกับการใช้งาน และอายุของวัตถุดิบนั้นๆ
จาก 15 ข้อที่เรายกตัวอย่างมาในบทความนี้อาจช่วยให้คุณเห็นภาพและประโยชน์ของการใช้ POS ในร้านอาหาร และร้านกาแฟมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากจะสรุปรวมๆ ทั้งหมด ประโยชน์หลักๆ ของ POS คือเรื่อง ความสะดวกของ Flow การทำงานในร้าน และการใช้ Data ในการบริหารจัดการร้าน ช่วยลดต้นทุน และเพิ่มยอดขายให้กับร้านอาหารได้เป็นอย่างดี
หากคุณชอบบทความนี้ และเรื่องราวธุรกิจในยุคดิจิทัลแบบนี้ สามารถเข้ามาที่ www.hardcoreceo.co ได้ทุกสัปดาห์ (หรือค้นหา HardcoreCEO บน Google)
และที่สำคัญ Follow เราบน Facebook HardcoreCEO พร้อมกด See First เพื่อรับบทความธุรกิจสดๆ ร้อนๆ ก่อนใครจาก HardcoreCEO ด้วยนะครับ
References: touchbistro, oracle