เจาะลึก! การเลือกช่องทางขายของออนไลน์ ในตลาด Red Ocean สำหรับ B2B และ B2C

เจาะลึก! การเลือกช่องทางขายของออนไลน์ ในตลาด Red Ocean สำหรับ B2B และ B2C

อัพเดทความรู้ธุรกิจตรงถึงอีเมล



    อัพเดทผ่าน LINE

    หรือปรึกษาเราเรื่องธุรกิจ

    ติดตาม Facebook

    กด See First ด้วยนะครับ

    การเริ่มต้นธุรกิจออนไลน์ ในปี 2021 นั้นค่อนข้างง่าย… ถึงแม้การทำให้ประสบความสำเร็จนั้นอาจไม่ง่ายเหมือนตอนเริ่ม สาเหตุที่ทำให้การเริ่มต้นธุรกิจออนไลน์เป็นเรื่องง่ายก็เพราะว่าสมัยนี้มี ช่องทางขายของออนไลน์ มากมาย ทั้ง Website, Sale Page, Social Media ต่างๆ อย่าง Facebook, Instagram, Line, Youtube, Tiktok หรือแม้กระทั่ง E-Marketplace ชื่อดังอย่าง Lazada หรือ Shopee โดยที่คุณสามารถเลือกใช้งานแบบฟรีได้อีกด้วย

    ยิ่งไปกว่านั้นพฤติกรรมผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็เริ่มมีการใช้จ่ายซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์เยอะขึ้นเรื่อยๆ ทำให้โอกาศในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าก็มีมากขึ้นกว่าธุรกิจแบบ Traditional

    ผลสำรวจในเดือนพฤศจิกายน 2563 พบว่า การบริโภคออนไลน์ยังคงเติบโตไม่หยุดมีมูลค่าสูงถึง 52,000 ล้านบาทต่อเดือน โดยนิยมซื้อสินค้าและบริการผ่าน Platform สมัยใหม่ เช่น Lazada, Shopee มากที่สุด คิดเป็น 46.45% รองลงมาคือ ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ (โลตัส/บิ๊กซี/วัตสัน/โรบินสัน) 25.32% และ Facebook 16.44%

    ค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์เฉลี่ยต่อเดือน พบว่า ส่วนใหญ่มียอดซื้อต่ำกว่า 1,000 บาท/เดือน คิดเป็น 49.23%

    สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

    แต่ด้วยความที่มีช่องทางการสร้างร้านค้าออนไลน์เยอะแยะไปหมด ทำให้ผู้ที่เพิ่งเริ่มทำธุรกิจออนไลน์เกิดความสับสนว่าควรจะไปเริ่มต้นที่ไหนดี.. จะทำ Facebook ดีไหม หรือจะไปขายใน Lazada และ Shopee ดี หรือจะสร้างเว็บไซต์ ทำ Sale Page ดี

    บทความนี้เราเลยพาคุณเจาะลึกช่องทางในการเปิดหน้าร้านออนไลน์ต่างๆ รวมข้อดี และข้อเสียของแต่ละช่องทาง เพื่อให้คุณได้เริ่มต้นขายของออนไลน์ได้ง่ายขึ้น

    การขายของออนไลน์โดยสร้างเว็บไซต์ หรือทำ Sale Page

    ก่อนอื่นเลย ใครที่ยังไม่ค่อยเข้าใจว่า Sale Page คืออะไร ต่างกับเว็บไซต์อย่างไร เราแนะนำให้ลองไปอ่านบทความ Landing Page คืออะไร ต่อจากบทความนี้ จะช่วยให้คุณเห็นภาพการเลือกใช้งานรูปแบบเว็บไซต์ได้เหมาะสมกับแคมเปญการตลาด

    เว็บไซต์เปรียบเหมือนหน้าร้าน และสำนักงานบนโลกออนไลน์ สะท้อนถึงตัวตนของธุรกิจที่ช่วยสร้างความมั่นใจและดูน่าเชื่อถือให้กับลูกค้าได้.. โดยประมาณ 4-5 ปีที่แล้วการมีเว็บไซต์เป็นเหมือนช่องทางสำหรับธุรกิจใหญ่ๆ หรือธุรกิจ B2B โดยธุรกิจ SME หรือธุรกิจที่เพิ่มเริ่มต้นก็จะมองว่าเป็นสิ่งสิ้นเปลื่อง เป็นค่าใช้จ่ายที่เกินความจำเป็น

    แต่ในปัจจุบัน ประโยชน์ของการมีเว็บไซต์ของตัวเองนั้นก็เสมือนมีคลังเก็บข้อมูล และพฤติกรรมต่างๆ ของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เข้ามาใช้งานเว็บไซต์ เช่น เข้ามาที่หน้าไหนบ้าง ดูสินค้าไหนบ้าง หรือซื้อสินค้า A แล้ว เข้ามาซื้อสินค้าอะไรต่อ

    ข้อมูลที่ได้จากตรงนี้จะช่วยให้คุณสามารถรู้ได้ว่ากลุ่มเป้าของคุณสนใจอะไร ไม่สนใจอะไร ซึ่งมีประโยชน์ในการทำการตลาดออนไลน์ และโฆษณา เพื่อส่งสินค้าที่ตรงใจไปยังกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น และยังสามารถนำไปทำ Remarketing กระตุ้นการเข้าเว็บไซต์ซ้ำ และการปิดการขายได้อีกด้วย

    [+] ข้อดีของเว็บไซต์ และ Sale Page

    • ง่ายต่อการเสิร์ชเจอธุรกิจของคุณบน Google ช่วยให้การทำ Google Ads และ SEO มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
    • สามารถพัฒนาหรือเพิ่มเติมระบบต่างๆ เข้ากับเว็บไซต์ เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า เช่น ระบบ CRM, Google Analytic หรือ Facebook Pixel เป็นต้น
    • สร้างความน่าเชื่อให้ธุรกิจของคุณ
    • สามารถทำ Remarketing เพื่อกระตุ้นเตือนให้กลุ่มเป้าหมายกลับมาซื้อสินค้าของคุณอีกครั้ง

    [-] ข้อเสียของเว็บไซต์ และ Sale Page

    • เว็บไซต์ไม่สามารถดึงคนเข้ามายังเว็บไซต์เองได้ ต้องอาศัยการทำการตลาด และโฆษณาออนไลน์ ถึงจะมีกลุ่มเป้าหมายจำนวนมากเข้ามาเยี่ยมชมจนเกิดการซื้อขายบนเว็บไซต์
    • มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น ค่าเช่าโฮสติ้ง และโดเมนเนม
    • อาศัยทักษะเชิงเทคนิคหลายประการ เพื่อให้สามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ UX, UI, การทำ SEO หรือการปรับแต่งเว็บไซต์ให้ใช้งานง่าย เป็นต้น

    การขายของออนไลน์บน Social Media เช่น Facebook/Instagram/Line

    แพลตฟอร์ม Social Media เหล่านี้เป็นแพลทฟอร์มที่มีจำนวนผู้คนใช้งานสูงมาก จึงไม่แปลกอะไรที่ Socail Media หลายเป็นตลาดการค้าที่น่าสนใจสำหรับหลายธุรกิจที่ต้องการนำเสนอสินค้าและบริการต่างๆ ของตนเอง

    สิ่งสำคัญที่ทุกคนควรเข้าใจก่อนคือวัตถุประสงค์หลักของโซเชี่ยลมีเดีย ซึ่งทุก Social Media มีจุดประสงค์ที่จะให้ผู้คนเข้ามาพบปะ แชร์เรื่องราว ทำความรู้จักกัน และแลกเปลี่ยนสิ่งที่สนใจเหมือนๆ กัน แต่หลายธุรกิจเข้ามาใช้งานช่องทางนี้ โดยเน้นขายตรงๆ ขายหนักๆ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ไม่ค่อยเวิร์คแล้วในยุคนี้

    หากจะใช้ประโยชน์ Social Media คุณต้องรู้จักการทำ Content Marketing เพื่อสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และสิ่งที่เป็น Key ในการตัดสินใจซื้อของบน Social Media คือ Social Proof หรือจิตวิทยาที่ทำให้สินค้าของเราเป็นที่ยอมรับในสังคม โดยเฉพาะธุรกิจ B2C เพราะผู้บริโภคจะใช้อามณ์ในการตัดสินใจซื้อมากกว่าเหตุผล

    [+] ข้อดีของการใช้ Social Media ทำธุรกิจ

    • ไม่มีค่าใช้จ่ายของการใช้แพลตฟอร์ม
    • การใช้งานง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน
    • สามารถนำส่งสินค้าหรือบริการของคุณไปยังกลุ่มเป้าหมายได้ตรงกลุ่มมากขึ้น ด้วยทำโฆษณาผ่านแพลตฟอร์มนั้นๆ
    • มีระบบ Feature และลูกเล่นต่างๆ ที่ทางแพลทฟอร์มพัฒนามาให้ใช้อยู่สม่ำเสมอ
    • รองรับการเข้าถึงลูกค้าผ่านทุกอุปกรณ์สื่อสาร ทั้ง คอมพิวเตอร์ และสมาร์ทโฟท

    [-] ข้อเสียของการใช้ Social Media ทำธุรกิจ

    • มีการเปลี่ยนแปลงของระบบ Algorithm บ่อย ที่เราไม่สามารถควบคุมได้
    • การแข่งขันสูงมาก จึงต้องมีการทำโฆษณาช่วยในการทำการตลาด และช่วยในการเข้าถึงลูกค้า
    • มีค่าใช้จ่ายแฝงในการทำ Content Marketing ทั้งในด้านของการทำ Graphic Design การเขียนคอนเทนต์ และการบริหารแคมเปญโฆษณา
    • สามารถเก็บ Data ได้เฉพาะส่วนที่แพลทฟอร์มนั้นๆ อนุญาตให้เก็บ

    การขายของออนไลน์บน Marketplace เช่น Lazada/Shopee/Alibaba

    แพลตฟอร์มที่เป็น Marketplace เป็นเหมือนตลาด คนที่เข้ามาหาสินค้าในนี้คือคนที่มีความต้องการในการซื้ออยู่พอสมควร เหมือนเราไปตลาดแต่ละทีก็จะมีเป้าหมายว่าจะไปดูอะไร ซื้ออะไร ไม่ต่างกับการเข้าใช้งานเว็บไซต์ Marketplace ยิ่งแพลตฟอร์มใดเป็นที่รู้จักมากโอกาสการขายของคุณก็ยิ่งสูง ฉะนั้น การมีร้านค้าของธุรกิจคุณเข้าไปเปิดอยู่ใน Marketplace ต่างๆ ย่อมเพิ่มโอกาสการในการขายสินค้าเช่นกัน แต่นั่นก็อาจจะต้องแลกมาซึ่งค่า Commission ที่คุณต้องจ่ายให้แก่แต่ละแพลตฟอร์ม

    นอกจากนี้แล้ว Marketplace จะมีการจัดโปรโมชั่นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น 11.11, 12.12, 1.1, 2.2 และอีกมากมาย ซึ่งหากมีร้านค้าอยู่บนแพลทฟอร์มก็จะได้รับประโยชน์ไปด้วย แต่การที่จะไปเข้าร่วมแคมเปญลดราคาต่างๆ ที่ทางเว็บไซต์จัด บางทีต้องแลกกับข้อกำหนดในการปรับราคาสินค้า เช่น ทางแพลทฟอร์มอาจกำหนดว่า หากต้องการร่วมแคมเปญนี้ คุณต้องลดราคามากกว่า 60% เป็นต้น ซึ่งก็ต้องบริหารต้นทุนกันให้ดีๆ

    [+] ข้อดีของการขายของบน Marketplace

    • ได้ Traffic ของคนที่พร้อมซื้อสินค้าจำนวนมาก จึงช่วยให้มีโอกาสการขายที่สูงขึ้น
    • มีระบบจัดการสินค้า, ระบบ Payment และระบบขนส่ง ที่ค่อนข้างเสถียร จึงช่วยให้คุณไม่ต้องยุ่งยากในการจัดการเหมือนเว็บไซต์ของตนเอง
    • มีแคมเปญทางการตลาดให้ร้านค้าบนแพลตฟอร์มได้เข้าร่วม โดยที่คุณไม่ต้องเสียเวลาคิดโปรโมชั่นหรือแคมเปญการตลาดบ่อยๆ เพื่อเพิ่มยอดขาย
    • มีแพลตฟอร์มที่ใช้งานได้เหมาะสมทั้ง B2B และ B2C เช่น แพลทฟอร์ม B2B ใหญ่ๆ ก็จะมี Alibaba เป็นต้น
    • สำหรับแพลทฟอร์ม B2B อย่าง Alibaba ระบบจะมีสัญญาต่างๆ ครอบคลุมให้แล้วบางส่วนเพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้ขาย และผู้ซื้อ
    • Marketplace จะมีการทดสอบแนะนำสินค้าที่ผู้ใช้อาจสนใจอยู่เสมอ ดังนั้นยอดขายของคุณอาจเกิดจากการ Cross-sells จากสินค้าอื่นก็เป็นได้

    [-] ข้อเสียของการขายของบน Marketplace

    • เสียค่า Commission โดยมีอัตราที่แตกต่างกันให้แต่ละแพลตฟอร์มที่คุณใช้งาน
    • การแข่งขันสูง เพราะมีหลายร้านค้าให้ผู้บริโภคเลือกซื้อ แถมยังระบบของบางแพลนฟอร์มยังอำนวยให้สามารถเทียบราคาได้ง่าย
    • หากต้องการร่วมแคมเปญอาจต้องปรับราคาตามเงื่อนไขของเว็บไซต์
    • มีค่าใช่จ่ายอื่นๆ ที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการขาย เช่น นำสินค้าไปแสดงในจุดที่คนเห็นมากขึ้น หรือเป็นสมาชิกเพื่อรับป้ายรับรองร้านค้า เป็นต้น
    • มีค่าใช้จ่ายเพิ่มหากคุณต้องการเพิ่มความน่าเชื่อถือ เช่น Verrified Account, Recommended Seller หรือ Gold Seller เป็นต้น
    • สามารถเก็บ Data ได้เฉพาะส่วนที่แพลทฟอร์มนั้นๆ อนุญาตให้เก็บ ไม่สามารถนำ Data บนแพลทฟอร์มนี้ไปทำ Remarketing ได้ และไม่สามารถเอามาวิเคราะห์เชิงลึกเองได้

    มาถึงตรงนี้ก็น่าจะทราบถึงข้อดีข้อเสียที่มีแตกต่างกันไปของแต่ละแพลตฟอร์มแล้ว แต่เราจะฟันธงบอกให้คุณเลือกแพลตฟอร์มใดแฟลตฟอร์มหนึ่งในการทำธุรกิจก็คงจะไม่ได้ เพราะการเลือกใช้แต่ละแพลทฟอร์มนั้น คุณจะต้องทำความเข้าใจธุรกิจของคุณให้ชัดเจนเสียก่อน

    เรามีเทคนิคสำหรับธุรกิจ B2B และ B2C เพื่อใช้ประกอบการเลือกแพลทฟอร์มสำหรับเริ่มต้นทำธุรกิจออนไลน์ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด มาลุยกันเลย!

    แนวทางการพิจารณาเลือก ช่องทางขายของออนไลน์ ของธุรกิจ B2C และ B2B

    ก่อนที่รู้ว่าแพลตฟอร์มอะไรดีที่สุด คุณต้องรู้ว่าลูกค้าของคุณเป็นใคร และรู้ว่าธุรกิจของคุณเป็นอย่างไร ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญในลำดับต้นๆ ในการเลือก ช่องทางขายของออนไลน์ เพราะจะมีผลต่อการตลาดออนไลน์ ที่คุณต้องดำเนินการต่อ

    ธรรมชาติของกลุ่มคนที่อยู่ในแต่ละแพลตฟอร์มไม่เหมือนกัน แพลตฟอร์มโซเชี่ยลมีเดียต่างๆ เหมาะกับธุรกิจ B2C มากกว่า B2B เนื่องจากพฤติกรรมการใช้งานของคนในโซเชี่ยลมีเดียนั้นจะชื่นชอบ และสนใจเรื่องที่ช่วยให้พวกเขาผ่อนคลาย เช่น เรื่องกิน เรื่องเที่ยว เรื่องแฟชั่นและความสวยงาม ฉะนั้นสินค้าที่พวกเขาพร้อมที่จะซื้อบนโซเชี่ยลมีเดียนั้น ก็จะเป็นสินค้าที่เชื่อมโยงกับสิ่งที่พวกเขาสนใจนั่นเอง

    ในขณะที่ B2B เองจะเหมาะกับการทำการตลาดบน Search Engine มากกว่า หรืออาจเป็นการใช้ Marketplace อย่าง Alibaba ในการดึงลูกค้านานาชาติ

    ทั้งนี้คุณอาจต้องรู้ก่อนว่า โมเดลธุรกิจของคุณคืออะไร เช่น ผลิตเองขายเอง รับมาขาย หรือ Dropship รวมถึงพฤติกรรมลูกค้าด้วย เช่น ลูกค้าซื้อออนไลน์ไหม หรือต้องพูดคุยก่อนซื้อ .. ลูกค้าถนัดจ่ายเงินออนไลน์ไหม หรือต้องออกเป็นเช็ค .. ความน่าเชื่อถือสำคัญต่อการตัดสินใจไหม หรือหรือขอแค่ราคาถูกพอ ซึ่งตรงนี้อยากให้คุณลองอ่านเรื่อง Market Analysis เพื่อทำความเข้าใจตลาดมากยิ่งขึ้น

    วางแผนช่องทางขายสำหรับธุรกิจ B2B

    สำหรับธุรกิจ B2B คุณอาจจะต้องให้น้ำหนักความสำคัญไปที่เว็บไซต์มากที่สุด ในการสร้างความน่าเชื่อถือให้ธุรกิจ และใส่ข้อมูลรายละเอียดสินค้าหรือบริการเพื่อตอบข้อสงสัยของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้ครบ โดยจะเป็น Informative Website ที่เน้นนำเสนอข้อมูล หรือจะเป็น e-Commerce ก็ได้ .. ส่วน Social Media นั้นอาจเลือกใช้เป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างคุณกับลูกค้า สร้างการรับรู้ของแบรนด์ และประชาสัมพันธ์โปรโมชั่นหรือแคมเปญการตลาดต่างๆ เพื่อช่วยให้ลูกค้ามีความสัมพันธ์กับแบรนด์ยิ่งขึ้น โดยอาจลงคอนเทนต์เกี่ยวกับเบื้องหลังการทำงาน เบื้องหลังการผลิต Testimonial รวมไปถึง ทำคอนเทนต์ให้ความรู้

    เว็บไซต์ที่แนะนำจะเป็นการทำบน WordPress เนื่องจากเป็นระบบสากลที่มีประสิทธิภาพค่อนข้างสูง หากเทียบกับเว็บสำเร็จรูป หรือ Wix

    โดยเว็บไซต์จะต้องสามารถติดตั้งระบบต่างๆ เพื่ออำนวยให้การซื้อ-ขายเกิดขึ้นภายในเว็บไซต์ได้อย่างคล่องตัว เช่น ระบบ CRM , Live Chat, Facebook Messenger และ ปุ่ม Add Line OA หรือหากเป็นเว็บไซต์ eCommerce ก็ต้องมีระบบจัดการสินค้า, ตะกร้าสินค้า, ระบบ Payment และ ระบบ Order Tracking .. ซึ่งก็อย่างที่บอกก่อนหน้านี้ว่า คุณต้องเข้าใจพฤติกรรมลูกค้าก่อน เพราะหากลูกค้าไม่ซื้อออนไลน์ การทำระบบชำระเงินออนไลน์ก็อาจไม่ได้นำมาใช้จริงก็ได้

    ตัวเว็บไซต์ต้องให้ความสำคัญกับ SEO และการเขียนคอนเทนต์ด้วยเช่นกัน เหตุผลเพราะอะไรนั้น มาดูภาพนี้กัน

    ช่องทางขายของออนไลน์ การเริ่มต้น ทำธุรกิจออนไลน์ B2B B2C
    การเดินทางของลูกค้า (Customer Journey) บนช่องทางออนไลน์ สำหรับธุรกิจ B2B

    เห็นได้ว่ากว่าลูกค้าจะซื้อ ต้องผ่านขั้นตอนการค้นหา การเรียนรู้เกี่ยวกับบริษัท ติดต่อขอข้อมูล บางทีต้องนัดประชุมกันก่อน ถึงจะเริ่มตัดสินใจซื้อ เพราะลูกค้าต้องการหา Solution จากบริษัทที่เชี่ยวชาญที่จะไปแก้ปัญหาของธุรกิจตัวเองได้จริงๆ

    ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการทำ Lead Magnet หรือแม่เหล็กดึงดูด Lead (ผู้ที่ติดต่อเข้ามา) จากการทำคอนเทนต์ต่างๆ บนเว็บไซต์ ให้ติด SEO เมื่อลูกค้าค้นหา ยกตัวอย่าง ธุรกิจรับทำบัญชี อาจเขียนบทความเกี่ยวกับ การยื่นภาษีนิติบุคคล เพื่อให้คนที่กำลังมีปัญหาเรื่องการยื่นภาษีบริษัท ค้นหา Google แล้วเจอบทความนี้ เพิ่มโอกาสในการติดต่อเข้ามาใช้บริการ

    วางแผนช่องทางขายสำหรับธุรกิจ B2C

    สำหรับธุรกิจประเภท B2C ที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายส่วนใหญ่ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจซื้อมากกว่าเหตุผล ซึ่งตรงกันข้ามกับประเภทธุรกิจ B2B ที่ลูกค้าจะใช้เหตุผลและข้อมูลจำนวนมากในการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ ฉะนั้น แพลตฟอร์มที่เหมาะสำหรับธุรกิจประเภท B2C จะต้องเข้าถึงคนจำนวนมาก การซื้อขายง่าย สะดวกและรวดเร็ว อย่าง โซเชี่ยลมีเดียต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook / Instagram / Line ซึ่งถ้าคาดหวังในเรื่องยอดขายที่ดี คุณอาจจะต้องมีค่าใช้จ่ายสำหรับการทำโฆษณาออนไลน์ด้วย

    ส่วนแพลตฟอร์ม Marketplace ต่างๆ หากรับเรื่องการเสียค่า Commission ได้ ก็เป็นอีกตัวเลือกที่ดีสำหรับเป็นช่องทางการขายที่เพิ่มเติม

    แล้วเว็บไซต์ล่ะ.. จำเป็นต้องมีไหม? จริงๆ แล้วก็แนะนำให้ทำ เพราะมันเป็นช่องทางเดียวที่คุณเป็นเจ้าของ Data ทั้งหมด โดยถ้าธุรกิจขายสินค้าไม่ได้มีความหลากหลายมาก เราแนะนำให้คุณทำเว็บไซต์แบบ 1 หน้า ซึ่งบางคนเรียก One-page Website บางคนเรียก Sale Page เว็บไซต์แบบนี้ก็เหมือนเว็บไซต์ทั่วไป สามารถใช้ Domain Name ที่เป็นแบรนด์ หรือชื่อร้านได้ปกติเหมือนเว็บไซต์ทั่วไป เพียงแต่เนื้อหาทั้งหมดจะจบครบในหน้าเดียว

    ราคาการจ้างทำ Sale Page จะอยู่ที่ประมาณ 3,000 – 5,000 ต่อปีแล้วแต่เงื่อนไขและรายละเอียดที่แตกต่างกันไป ซึ่งถ้าเทียบ Sale Page กับการทำเว็บไซต์มาตรฐาน Sale Page มีค่าใช้จ่ายและความยุ่งยากน้อยกว่ามาก แต่ก็เหมาะกับธุรกิจที่มีสินค้าน้อยๆ สุดท้ายแล้วหากคุณต้องการจะเติบโตก็ควรทำเว็บไซต์จริงๆ จังๆ อยู่ดี

    แต่! หากคุณลองดูแล้วว่าสินค้าของคุณมีการค้นหาบน Google เยอะ และต้องการที่จะมาโฟกัสการตลาดบนช่องทางนี้ การทำเว็บไซต์จะหลายเป็นสิ่งจำเป็นกว่า Social Media ทันที

    อย่างไรก็ตาม ในช่วงเริ่มต้นของ B2C อาจจะเลือกเริ่มจากช่องทางเดียวก่อน เช่น หากเป็นสินค้า หรือบริการที่คนค้นหาบน Google เยอะ ก็ทำเว็บไซต์ หรือ Sale Page แต่หากเป็นสินค้าที่ต้องกระตุ้นความต้องการ และเน้นเข้าถึงคนเยอะๆ (Mass) ก็ไปโฟกัสที่​ Social Media หรือ Marketplace ก่อนก็ได้ .. เลือกช่องทางที่ตัวเองถนัดก่อน แล้วค่อยขยายออกไป

    สำหรับใครที่กำลังส่งสัยว่า ขายของออนไลน์ เริ่มยังไง บทความนี้น่าจะพอให้คุณได้เห็นภาพรวมของช่องทางทั้งหมด และหากคุณชอบบทความนี้ หรือเรื่องราวธุรกิจในยุคดิจิทัลแบบนี้ สามารถเข้ามาที่ www.hardcoreceo.co ได้ทุกสัปดาห์ (หรือค้นหา HardcoreCEO บน Google)

    และที่สำคัญ Follow เราบน Facebook HardcoreCEO พร้อมกด See First เพื่อรับบทความธุรกิจสดๆ ร้อนๆ ก่อนใครจาก HardcoreCEO

    เขียน: Jittima K., เรียบเรียง/พิสูจน์อักษร: HardcoreCEO

    References: shopify, bigcommerce, businessnewsdaily

    ชอบเรื่องนี้แค่ไหน ให้หัวใจเราหน่อย

    หัวใจเฉลี่ย / 5. จำนวนโหวด

    แชร์บทความนี้! อาจเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ ของคุณ

    ติดตามเราบน Facebook

    เราขอโทษด้วยที่โพสต์นี้ไม่ดีพอสำหรับคุณ

    รบกวนขอ Feedback เพื่อให้เราได้ปรับปรุงนะครับ

    เพื่อประสิทธิภาพในการแสดงผล และการพัฒนาปรับปรุงเว็บไซต์ hardcoreceo.co เราจึงใช้คุกกี้เพื่อเก็บข้อมูลมาพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

    Privacy Preferences

    คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

    Allow All
    Manage Consent Preferences
    • คุกกี้ที่จำเป็น
      Always Active

      ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

    • คุ้กกี้เพื่อการวิเคราะห์

      คุ้กกี้เพื่อการวิเคราะห์

    Save