เราจะเห็นข่าวอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลกระทบทั้งต่อความปลอดภัยของประชาชน การจราจร และระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในหลายกรณีก็ส่งผลถึงชีวิต อย่างล่าสุดก็มีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากโครงการก่อสร้างทางด่วนพระราม 2 ถือเป็นอุบัติเหตุที่ร้ายแรง มีผู้เสียชีวิตและทรัพย์สินเสียหายอย่างมาก วันนี้เราเลยจะมาแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางในการจัดการงานก่อสร้าง โฟกัสที่เรื่องความปลอดภัยและความรับผิดชอบเมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น
จะเกิดอะไรหากการจัดการงานก่อสร้างไม่มีประสิทธิภาพ
อุบัติเหตุจากการก่อสร้างย่อมมีโอกาสขึ้นได้ ซึ่งสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ทั้งจากคน จากระบบ หรือสภาพแวดล้อมต่าง ๆ แต่สิ่งสำคัญคือการเรียนรู้เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นซ้ำและนำไปปรับปรุงเรื่องการบริหารจัดการความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ซึ่งในหลาย ๆ เคสในประเทศไทยจะเห็นว่าโครงการเหล่านี้ที่ผ่านมามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นหลายครั้งและยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเวลาเกิดปัญหาก็จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาพูดแบบเดิม ๆ ไม่ต่างจากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ทำให้ประชาชนเองก็ไม่มั่นใจว่าโครงการเหล่านี้จะบริหารจัดการอย่างไรได้บ้างเพื่อไม่ให้อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้อีก
สังเกตจากอุบัติเหตุที่ผ่านมาจะพบว่าการจัดการงานก่อสร้างในโครงการของรัฐบาลดูแล้วน่าจะยังสามารถจัดการได้ดีกว่านี้ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ายังไม่เห็นการนำบทเรียนมาแก้ไขได้อย่างเป็นรูปธรรม ยังไม่มีการ Take Action อย่างจริงจังเพื่อที่จะป้องกันให้อุบัติเหตุเป็นศูนย์ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คืออุบัติเหตุก็จะยังมีโอกาสเกิดขึ้นต่อไป
โครงการก่อสร้างใหญ่ ผู้ที่เกี่ยวข้องเยอะ แล้วใครต้องรับผิดชอบ
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความรับผิดชอบก็ควรเป็นเจ้าของโครงการ เป็นความรับผิดชอบเบื้องต้นที่สำคัญที่สุดถึงแม้ว่าสาเหตุของอุบัติเหตุอาจเกิดจากผู้รับเหมาต่าง ๆ แต่ในฐานะผู้ว่าจ้างก็ควรมี Accountability ในทั้งระบบ อาจไม่ต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก แต่ก็มีอีกหลายส่วนมาก ๆ ที่สามารถรับผิดชอบได้ เพราะฉะนั้นอุบัติเหตุที่จะเกิดจากผู้รับเหมารายใดกันแล้วแต่ บุคคลที่รับผิดชอบเบอร์ 1 ก็คือผู้ว่าจ้าง แล้วค่อยว่ากันไปตามความรับผิดชอบของแต่ละฝ่าย
ซึ่งการรับผิดชอบไม่ใช่แค่แก้ปัญหานั้นให้จบ ๆ ไป แต่ก็ควรมีแนวทางที่ควรปฏิบัติในอนาคต ทั้งในด้านการป้องกัน และด้านบทลงโทษ ไปจนถึงแนวทางในการประมูลและจัดการโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ระบบความปลอดภัยที่เป็นมาตรฐานและตรวจสอบได้
เจ้าของโครงการควรมีระบบติดตามและควบคุมคุณภาพของผู้รับเหมา รวมถึงความรับผิดชอบในการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยที่มีความเข้มงวด สามารถตรวจสอบได้ทั้งจากผู้เชี่ยวชาญภายนอกและภายในองค์กร ทั้งนี้ต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ซึ่งเรื่องความโปร่งใสก็ยังคงเป็นคำถามอยู่ไม่ว่าจะเป็นโครงการของภาครัฐและเอกชน
ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 107 จากประเทศทั้งหมด ในเรื่อง Corruption (อ้างอิง bangkokpost.com) ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่แค่โครงการก่อสร้างเพียงอย่างเดียว แต่ก็สามารถเจอได้ในหลายรูปแบบตามที่ทุกคนน่าจะทราบดี
การเลือกผู้รับเหมา
ในการคัดเลือกผู้รับเหมาควรเลือกผู้รับเหมาที่มีมาตรฐานสูง ไม่ใช่แค่ราคาถูกที่สุด หรือสนิทสุด จ่ายใต้โต๊ะเยอะสุด ควรพิจารณาจากความสามารถในการทำงานตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ คุณภาพของงาน มีระบบการจัดการที่ดี และความสามารถในการบริหารจัดการความปลอดภัยเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ที่มีผลต่อชีวิตและความปลอดภัยของประชาชน การคัดเลือกผู้รับเหมาต้องพิจารณาจากความสามารถในด้านเทคนิคและวิศวกรรม ระบบการบริหารความปลอดภัย รวมถึงประวัติการทำงานที่ดีในด้านความปลอดภัยเพื่อให้โครงการสำเร็จลุล่วงอย่างราบรื่น
การเลือกผู้รับเหมาจึงมีความสำคัญต่อโครงการ ทั้งเรื่องความปลอดภัย ความโปร่งใส ไปจนถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมในขณะการก่อสร้างและระยะยาว บางครั้งการยอมจ่ายเงินสูงขึ้นเพื่อแลกกับระบบที่ให้ความมั่นใจและสามารถป้องกันการเกิดอุบัติเหตุตามที่ต้องการได้ รวมถึงส่งผลดีต่อประชาชนในระยะยาวอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า