เทคโนโลยี AI กับโลกธุรกิจ ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป หลายธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ได้เริ่มนำระบบ AI เข้าไปปรับใช้ในการดำเนินการด้านต่างๆ ในขณะที่ธุรกิจ SME ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงระบบ AI ได้เต็มที่ แต่ก็มีหลายโปรแกรมที่เป็นแพลตฟอร์มลักษณะ Ready-to-use ที่เข้ามาสนับสนุนทำให้การใช้ระบบ AI ในธุรกิจเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น
บทความนี้เราจะมาสรุปกันว่าในภาคธุรกิจสามารถนำ AI ไปใช้งานในด้านไหนบ้าง ที่ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใหญ่หรือ SME ก็สามารถนำไปปรับใช้ได้
การใช้งาน AI ในภาคธุรกิจ
1. ด้านการตลาดออนไลน์
ก่อนหน้านี้ไม่นานเราาจะเน้นเรื่องการทำ Data-driven Marketing แต่ตอนนี้ไม่ใช่แค่ Data-driven แล้ว แต่ต้องรู้จักการใช้ AI มาเรียนรู้ Data ที่เก็บได้ด้วย
ในระบบโฆษณาออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Google Ads หรือ Facebook Ads แต่ละแพลตฟอร์มก็จะนำ AI เข้ามาช่วยในการยิงโฆษณาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่ใช่ว่าเราจะสามารถเซตอัพแล้วปล่อยให้มันทำงานได้เลยทันที เนื่องจาก AI ด้านโฆษณาจำเป็นที่จะต้องเก็บข้อมูลให้ได้จำนวนหนึ่งเพื่อความแม่นยำ ดังนั้นในฐานะผู้ใช้งาน จำเป็นที่จะต้องป้อนข้อมูลที่แม่นยำให้ AI ได้ทำการเรียนรู้
การใช้ AI หรือ Machine Learning ในระบบโฆษณา จำเป็นต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือรายเดือนในการให้ระบบได้เก็บข้อมูลและสถิติมาทำความเข้าใจเพื่อให้ทราบถึงพฤติกรรมของผู้ใช้และนำโฆษณาไปเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากเราเก็บข้อมูลในช่วงสั้นๆ ระบบ AI ก็จะเกิดการเรียนรู้ที่ไม่ค่อยแม่นยำสักเท่าไหร่
การใช้ AI มาช่วยเก็บข้อมูลช่วยส่งเสริมการตลาดแบบ Personalization และการทำ Retargeting โดยทางเว็บไซต์จะต้องคอยเก็บข้อมูลผู้ใช้ที่เข้ามาใช้งานผ่าน Cookie หรือข้อมูล Lead ต่างๆ ให้ได้จำนวนหนึ่งอย่างน้อยๆ ไม่ต่ำกว่า 2,000 เพื่อความแม่นยำของข้อมูล ซึ่งบางเว็บไซต์อาจจะมีจำนวนผู้ใช้งานไม่ค่อยเยอะเพียงพอ แนะนำให้เพิ่ม Traffic การทำ SEO หรือ Google Ads ช่วยให้ได้ข้อมูลผู้ใช้ที่มีคุณภาพ สามารถนำไปต่อยอดในช่องทางอื่นเช่น Social Media ได้
2. ด้านคลังสินค้า การจัดเก็บสินค้า
ทุกธุรกิจค้าปลีกจำเป็นต้องมีระบบจัดเก็บครั้งสินค้าที่มีคุณภาพสูง เช่น จะต้องทำการวิเคราะห์ได้ว่าสินค้ากลุ่มไหนยังคงเหลือค้างอยู่เยอะ กลุ่มไหนที่ใกล้หมดอายุและจำเป็นต้องปล่อยออกไปก่อน กลุ่มไหนขายดีและจำเป็นต้องผลิตเข้าไปเพิ่ม วิเคราะห์ผิดพลาดจะส่งผลให้เกิดความเสียหายค่อนข้างหนัก เช่นหากสินค้าหมดอายุก็แทบจะต้องทิ้งทั้งล็อตเลยไม่สามารถขายต่อได้
การนำระบบ AI ใช้ในธุรกิจคลังสินค้าก็จะสามารถช่วยวิเคราะห์ได้ว่าช่วงนี้ควรจะต้องจัดโปรโมชั่นปล่อยสินค้ากลุ่มไหนเพื่อเคลียร์สต็อก และช่วงนี้ควรจะต้องเพิ่มกำลังการผลิตสินค้ากลุ่มไหนที่ขายดีเป็นพิเศษ หากเทียบการใช้คนวิเคราะห์แบบสมัยก่อน กับการใช้ระบบ AI เข้ามาช่วย .. เรียกว่า AI สามารถประเมินได้แบบ Real Time กว่าเยอะ
ซึ่งตรงนี้สามารถจัดเก็บข้อมูลเป็นรายปีก็ได้เพื่อให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเทศกาล อย่างเช่นช่วงสงกรานต์สินค้าตัวไหนขายดี ช่วงปีใหม่สินค้าตัวไหนขายดี บางครั้งทางแบรนด์อาจจะบริหารจัดการสินค้าที่ยังคงเหลืออยู่เพื่อไปรีบปล่อยให้หมดในช่วงเทศกาลปีใหม่ด้วยการจัดโปรโมชั่นลดราคาก็ได้เช่นกัน
3. ธุรกิจ E-commerce
การใช้ AI ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ จะคล้ายๆ กับการใช้ในด้านคลังสินค้า แต่เป็นการวิเคราะห์การซื้อขายผ่านหน้าเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซแทน
ในส่วนนี้ AI สามารถทำการเรียนรู้ได้ว่าสินค้ากลุ่มไหนขายดี สินค้ากลุ่มไหนควรจัดโปรโมชั่นลดราคา และนำมาขึ้นแสดงผลบนตำแหน่งต่างๆ ของเว็บไซต์เพื่อกระตุ้นให้เกิดการขายเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้การวิเคราะห์พฤติกรรมการซื้อก็สำคัญเช่นกันอย่างเช่นลูกค้านิยมซื้อสินค้า A คู่กับสินค้า B หากทางร้านทราบข้อมูลในส่วนนี้ก็สามารถจัดโปรโมชั่นเพื่อจูงใจให้เกิดการซื้อมากขึ้นได้เช่นกัน
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ AI ใน E-commerce ได้ที่ การใช้ AI ในธุรกิจ E-commerce
4. Facial Recognition ในธุรกิจค้าปลีก
ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายเสื้อผ้าตามห้าง รวมถึงซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ สามารถนำระบบ Facial Recognition เพื่อ วิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าที่เข้ามาเดินเลือกซื้อสินค้าในร้านได้ อย่างเช่นร้านขายเสื้อผ้า พบว่าลูกค้าเดินไปดูสินค้าที่ Section A มากกว่า Section B หน้าร้านก็สามารถนำข้อมูลนี้ไปปรับผังการแสดงสินค้าในร้านใหม่ได้ อย่างเช่นเอาสินค้าลดราคาไปวางอยู่ที่ Section B เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าเดินไปที่ Section นี้มากขึ้น
หรืออีกตัวอย่างคือซุปเปอร์มาร์เก็ตพบว่าลูกค้ายืนเลือกซื้อนมค่อนข้างนาน และสุดท้ายก็เดินผ่านไปโดยไม่ได้หยิบนมลงรถเข็น ซึ่งอันนี้อาจจะเกิดความผิดพลาดที่การวางสินค้านั้นดูยาก หรือทางร้านอาจจะยังไม่มีแบรนด์สินค้าที่ลูกค้ากำลังมองหา เมื่อทราบข้อมูลนี้ก็สามารถนำไปปรับการจัดวางสินค้าในหมวดเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากขึ้น
ธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่ นอกจากการเข้าถึงลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์แล้ว ยังมีอีกหลายเทคโนโลยีที่สามารถนำมาใช้กับหน้าร้านได้ด้วยเช่นกัน ถือว่าต้องตามให้ทันทั้งการพัฒนา Online และ Onsite
5. การช่วยเหลือลูกค้าบนช่องทางออนไลน์ และ CRM
ระบบ CRM แบบเก่าส่วนใหญ่จะเป็นการเน้นจัดเก็บข้อมูลลูกค้า นำมาจัดเรียงเป็นข้อมูลเพื่อให้ทราบว่าลูกค้าคนไหนมีโอกาสในการขายเพิ่มได้ ลูกค้าคนไหนต้องกระตุ้นเพิ่ม หรือลูกค้าคนไหนอาจจะยังต้องใช้เวลาตัดสินใจ จะให้ฝ่ายขายนำไปวิเคราะห์และประเมินกลยุทธ์ในการรักษาฐานลูกค้า
แต่ระบบ CRM ในยุคนี้ส่วนใหญ่จะเพิ่ม Action หลังจากการวิเคราะห์เข้าไปด้วย เมื่อระบบทราบว่าลูกค้ากลุ่มนี้ยังใช้เวลาตัดสินใจ ระบบก็จะส่งข้อมูล A เพื่อไปกระตุ้นลูกค้า หรือหากระบบทราบว่าลูกค้าคนนี้ยังไม่สนใจซื้อ ระบบก็อาจจะส่งข้อมูล B ไปหาเรื่อยๆ ทีละหกเดือนเพื่อให้ลูกค้าไม่ลืม
จากนี้ระบบ CRM ที่นำ AI มาใช้ จะรวมเรื่อง Chat Bot และเรื่องการช่วยเหลือลูกค้าผ่านระบบ FAQ เข้าไปด้วย เช่นหากลูกค้าเจอปัญหาอะไรก็สามารถคุยกับ Chat Bot จะให้ AI ต้องไปหาคำตอบในฐานข้อมูลและนำมาตอบลูกค้าได้ ระบบนี้จะช่วยลดเวลาในการทำงานของพนักงานและช่วยให้ลูกค้าได้คำตอบที่เร็วยิ่งขึ้น
6. ใช้งาน AI ผ่าน Prompt อย่าง ChatGPT
การใช้ ChatGPT ในภาคธุรกิจจะทำงานโดยการที่เราสามารถป้อนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมของเราเข้าไปเพื่อให้ระบบได้ทำการเรียนรู้ สามารถนำโครงสร้างพื้นฐานของ ChatGPT ที่พัฒนาโดย OpenAI พัฒนาต่อยอดในอุตสาหกรรมนั้นๆ ซึ่งการทำงานของมันจะเป็นการใส่ Prompt หรือคำสั่งเข้าไป เพื่อให้ระบบตอบคำถามกลับมาอ้างอิงจากฐานข้อมูลที่ใส่เข้าไปให้มันเรียนรู้
การใช้งานแบบนี้อาจมีความซับซ้อนและต้องพัฒนาขึ้นมาสำหรับแต่ละธุรกิจ เหมาะกับการใช้งานในองค์กรและสามารถเปิดให้ลูกค้าใช้ได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลสร้างระบบนี้ขึ้นมาเพื่อให้คนไข้เข้ามาถามคำถามและได้คำตอบเบื้องต้นกลับไปโดยยังไม่ต้องมาพบแพทย์ ข้อควรระวังคือความแม่นยำของระบบ เพราะในบางธุรกิจอย่างเช่นโรงพยาบาล คำตอบที่ผิดอาจส่งผลต่อสุขภาพหรือชีวิตของคนได้ ดังนั้นจึงต้องมีความระมัดระวังในการใช้งานมากพอสมควร