เรื่องที่น่าตื่นเต้นที่สุดที่เกิดขึ้นต้อนรับปีใหม่สำหรับคนที่ทำธุรกิจ เจ้าของกิจการ และทีมการตลาด รวมถึงโปรแกรมเมอร์คงหนีไม่พ้น ChatGPT ซึ่งจะเป็นเรื่องใหม่และน่างงสำหรับหลายคน แต่จริงๆ มันไม่ได้น่างงขนาดนั้น เราขอปรับความเข้าใจของผู้อ่านทุกคนก่อนว่าให้ลองนึกว่า ChatGPT เป็นเหมือน Chatbot ไปก่อน จะทำความเข้าใจได้ง่ายกว่าสำหรับมือใหม่
ก่อนเริ่ม บทความนี้เหมาะกับเจ้าของกิจการมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มศึกษาการทำงานของ ChatGPT ทาง HardcoreCEO จึงขออนุญาตอธิบายคร่าวๆ ว่า ChatGPT คืออะไร และอาจเจาะไปในด้านการนำระบบนี้มาใช้ในธุรกิจเป็นหลัก โดยเราขอใช้ภาษาง่ายๆ ในการอธิบายครับ
ChatGPT คืออะไร
ChatGPT คือระบบที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัท OpenAI ถูกพัฒนามาในลักษณะคล้าย Chatbot ที่มีความฉลาดกว่า Chatbot ทั่วไปหลายๆ เท่าตัว เรียกว่าเป็น Guru เลยก็ได้ เพราะถามอะไรไปก็ตอบได้หมด ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการทำงานโดยใช้ AI โดยมีการป้อนข้อมูลจำนวนมหึมาเข้าไปให้ระบบทำการเรียนรู้ ทำให้ AI มีความฉลาดขึ้นหลายเท่า ถึงขนาดที่สามารถตอบคำถามได้นอกเหนือจากสิ่งที่ป้อนเข้าไป เพราะมันจะสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง และที่สำคัญ ภาษาที่มันตอบมานั้นเรียกว่าเหมือนคนตอบเลยก็ได้ ไม่มีความรู้สึกเหมือนหุ่นยนต์เลย
ระบบของ ChatGPT เป็น Language Model หรือโมเดลที่สร้างขึ้นมาเพื่อจุดเด่นเรื่องภาษาที่สื่อสาร โดยพัฒนาขึ้นมาในรูปแบบ Chatbot
![ChatGPT คืออะไร](https://hardcoreceo.co/wp-content/uploads/2023/01/what-is-chatgpt-2-1024x369.png)
สามารถนำ ChatGPT มาใช้ประโยชน์ในธุรกิจได้อย่างไร
ChatGPT มีศักยภาพที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจได้ในหลายด้าน ซึ่งด้วยความที่ถูกพัฒนามาในรูปแบบ Chatbot หนึ่งในด้านการทำงานที่โดดเด่นที่สุดที่ ChatGPT สามารถช่วยธุรกิจได้คือความสามารถในการโต้ตอบกับลูกค้าโดยอัตโนมัติ ซึ่งสามารถทำได้โดยใช้แบบจำลองเพื่อสร้างคำตอบสำหรับคำถามที่พบบ่อย ซึ่งสามารถช่วยลดภาระงานของฝ่ายบริการลูกค้า และยังสามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้าด้วย เพิ่มโอกาสในการรักษาฐานลูกค้าเก่า
อีกด้านที่ ChatGPT จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจคือความสามารถในการสร้างเนื้อหาหรือคอนเทนต์ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบทความ เขียนเนื้อหาบนหน้า Landing Page เขียนข้อความโพสต์บน Social Media และเนื้อหาประเภทอื่นๆ ที่ใช้ในธุรกิจเพื่อให้ดึงดูดลูกค้าได้มากขึ้น ไปจนถึงการช่วยแปลภาษา ซึ่งช่วยธุรกิจหรือผู้ประกอบการที่ยังไม่มีทีมงานเป็นเรื่องเป็นราวประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย สามารถขยายตลาดได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ระบบ ChatGPT ยังสามารถช่วยเขียนโค้ดเบื้องต้นได้ด้วย โดยอาจจะต้องมาปรับแก้เพิ่มเติมให้เข้ากับการใช้งาน แต่เรียกได้ว่าประหยัดเวลาโปรแกรมเมอร์ขึ้นได้เยอะเลยทีเดียว
![ตัวอย่างการใช้งาน ChatGPT จาก OpenAI ในการเขียนโค้ด](https://hardcoreceo.co/wp-content/uploads/2023/01/what-is-chatgpt-1-1024x585.png)
สุดท้าย ChatGPT ยังสามารถใช้เพื่อช่วยธุรกิจในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก โดยตัวโมเดลของ ChatGPT สามารถใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีจำนวนมาก และดึงข้อมูลเชิงลึกที่สามารถช่วยให้คุณตัดสินใจได้ดีขึ้น
ข้อเสียของ ChatGPT
ถึงแม้ ChatGPT จะมีศักยภาพในการสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจในหลายรูปแบบ แต่ก็อาจมีผลกระทบด้านลบด้วยเช่นกัน
ข้อเสียหลักๆ เลยคือเนื้อหาที่ระบบจะตอบนั้นจะไม่ลึกมาก ซึ่งถ้าเป็นเรื่องทั่วๆ ไปก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ต้องการข้อมูลเชิงลึก อย่างเช่นข้อมูลเชิงการแพทย์ ระบบอาจตอบได้ไม่ลึก และข้อมูลบางอย่างอาจไม่ถูกต้องเสมอไป เช่น บางเรื่องอาจต้องมีข้อยกเว้น หรืออาจถูกในกรณี A แต่อาจผิดในกรณี B ระบบก็จะยังไม่สามารถตอบได้ทุกเรื่องขนาดนั้น
สาเหตุเพราะการสร้างคำตอบนั้นมาจากแบบจำลองที่อ้างอิงตามรูปแบบและแนวโน้มของข้อมูลที่ได้รับจากการฝึก รวมถึงเรื่องที่อาจมีการ Bias เจ้า AI ตัวนี้ก็จะยังแยกแยะไม่ได้และให้คำตอบแบบไม่เป็นกลาง จึงอาจไม่ได้ให้การตอบสนองที่ถูกต้องหรือเหมาะสมเสมอไป อาจทำให้ลูกค้าบางส่วนไม่พอใจ
การนำ ChatGPT มาใช้งานเต็มรูปแบบในการ Customer Service จึงอาจยังไม่ใช้ทางเลือกจนกว่า AI จะมีการฝึกให้สามารถสร้างคำตอบได้ตรงกับธุรกิจนั้นๆ มากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างการนำ ChatGPT ไปใช้ในธุรกิจต่างๆ
จากการทำงานของเจ้า ChatGPT ก็จะเริ่มเห็นได้ว่ามีธุรกิจหลายประเภทที่สามารถนำ ChatGPT ไปใช้ได้ ลองมาดูตัวอย่างกัน
- อีคอมเมิร์ซ (E-commerce): บริษัท E-commerce สามารถใช้ ChatGPT ในการโต้ตอบกับลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำสินค้า การจัดส่งของ การคืนสินค้า การอธิบายการใช้งานเว็บไซต์ และการแก้ไขปัญหาการใช้งาน คำถามที่พบบ่อย ซึ่งสามารถทำงานได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งช่วยแอดมินประหยัดเวลาได้เยอะมาก
- งานด้านการตลาด: ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการตลาด หรือธุรกิจ Digital Agency ก็สามารถใช้ ChatGPT เพื่อสร้างคอนเทนต์ที่น่าสนใจและมีคุณภาพสูงสำหรับโซเชียลมีเดีย และไกด์ไลน์เนื้อหาในการเขียนคอนเทนต์
- ธุรกิจด้านสุขภาพ: ธุรกิจที่ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพสามารถใช้ ChatGPT เพื่อให้ข้อมูลและคำแนะนำด้านสุขภาพเฉพาะบุคคลแก่ลูกค้าหรือคนไข้ โดยสามารถป้อนข้อมูลทางการแพทย์เพิ่มเติมเข้าไป เพื่อเป็นแบบจำลองให้ระบบสามารถทำความเข้าในศัพท์ทางการแพทย์ เข้าใจคำถาม และสร้างชุดคำตอบได้ถูกต้อง
- ธุรกิจการเงิน: สถาบันการเงินหรือกองทุนต่างๆ สามารถใช้เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินจำนวนมากและดึงข้อมูลเชิงลึกที่สามารถช่วยให้บริษัทตัดสินใจได้ดีขึ้น โดยแบบจำลองบางส่วนสามารถใช้ในการคาดการณ์แนวโน้มของตลาด และโอกาสในการลงทุนที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถทำเป็น Chatbot ให้ลูกค้าเข้ามาใช้เพื่อเป็นเหมือนผู้ช่วยคอยให้คำแนะนำในการลงทุน
- ธุรกิจกฎหมาย: บริษัทที่ให้บริการด้านกฎหมายสามารถนำ AI ตัวนี้ไปพัฒนาต่อยอดคล้ายกับธุรกิจด้านสุขภาพ โดยอาจป้อนเนื้อหาด้านกฎหมาย และสอนให้เรียนรู้การวิเคราะห์ข้อกฎหมาย ทำความเข้าใจคำถาม และดึงข้อกฎหมายมาให้คำตอบได้ถูกต้อง เข้าใจง่าย
- การเริ่มต้นธุรกิจ: สามารถให้ ChatGPT ช่วยคิดชื่อแบรนด์ได้ โดยลองพิมพ์บอกไปได้เลยว่าอยากได้ชื่อแบรนด์แบบไหน ระบบจะส่งตัวอย่างมาให้ลองพิจารณา
![ตัวอย่างการใช้งาน ChatGPT ในด้านธุรกิจสุขภาพ](https://hardcoreceo.co/wp-content/uploads/2023/01/example-using-chatgpt-in-business-1024x449.png)
ChatGPT ใช้งานได้ทุกภาษาหรือเปล่า
ChatGPT ก็เป็นเหมือนระบบ AI ทั่วไป คือต้องมีข้อมูลป้อนเข้าไปเพื่อทำการเรียนรู้ภาษา ทั้งการอ่านคำถาม และการนำมาเรียบเรียงเป็นคำตอบให้ราบรื่น ซึ่งตอนนี้ทาง OpenAI ก็ได้พัฒนาเวอร์ชันภาษาอังกฤษออกมาได้ดีทีเดียว การตอบสนองค่อนข้าง Smooth เหมือนคุยกับคน โดยได้มีการพัฒนาเวอร์ชัน ภาษาจีน และภาษาสเปน แล้วด้วย
อย่างไรก็ตาม จะให้ ChatGPT ทำงานได้ทุกภาษานั้นเป็นเรื่องที่ยาก และใช้เวลาในการป้อนข้อมูลให้ได้เรียนรู้ ซึ่งหากอ้างอิงจากทาง ChatGPT การทำงานที่รองรับทุกภาษาบนโลกอาจยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในเร็วๆ นี้ เนื่องจากแต่ละภาษามีความซับซ้อนและต้องใช้เวลาในการฝึกเท่าตัว
แต่ก็ไม่แน่ หากระบบ ChatGPT เปิดให้เราสามารถนำโครงสร้างหลักมาพัฒนาต่อยอดได้ แต่ละประเทศก็อาจนำภาษาของตัวเองมาให้ระบบทำการเรียนรู้และนำออกมาใช้งานจริงก็เป็นไปได้เช่นกัน เพราะตัวระบบเองมีเป็นเวอร์ชัน Open Source อยู่บน GitHub สามารถไปดาวน์โหลดและนำมาใช้งานได้ เพียงแต่การฝึกฝนนั้นจะใช้เวลา ข้อมูล และทรัพยากรมหาศาล อีกทั้งยังมีเวอร์ชันที่ต้องเสียเงินด้วย โดยจะทำงานผ่าน API ซึ่งค่าใช้จ่ายในการใช้งานก็ขึ้นอยู่กับข้อมูลการใช้งาน