ย้อนเบสิค.. Domain Name คืออะไร เผยเคล็ดลับการตั้งชื่อเว็บไซต์ และอื่นๆ ที่มือใหม่ต้องรู้

ย้อนเบสิค.. Domain Name คืออะไร เผยเคล็ดลับการตั้งชื่อเว็บไซต์ และอื่นๆ ที่มือใหม่ต้องรู้

อัพเดทความรู้ธุรกิจตรงถึงอีเมล



    อัพเดทผ่าน LINE

    หรือปรึกษาเราเรื่องธุรกิจ

    ติดตาม Facebook

    กด See First ด้วยนะครับ

    จากเรื่องราวธุรกิจที่ HardcoreCEO ได้เล่ามา มีผู้อ่านที่เป็น SME หลายคนให้ Feedback เราว่า เป็นประโยชน์มาก แต่เนื่องจากความคุ้นเคยที่ทำธุรกิจออฟไลน์มา เลยยังเป็นมือใหม่บนโลกออนไลน์ ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเริ่มจากอะไรดี วันนี้เราเลยจะมาเล่าเบสิคของการเริ่มธุรกิจบนโลกดิจิทัลด้วยเว็บไซต์ เพราะหลายคนจะคุ้นเคยกับ Social Media อยู่บ้าง แต่ยังมืดแปดด้านในเรื่องเว็บไซต์ ซึ่งเมื่อพูดถึงเว็บไซต์ ก่อนอื่นก็ต้องรู้ว่า โดเมน หรือ Domain Name คืออะไร

    โดยเราจะพยามเล่าเป็นภาษาคนให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ทุกคนสามารถทำความเข้าใจได้ง่าย ดังนั้นศัพท์เทคนิคต่างๆ ในบทความนี้อาจจะไม่ค่อยเยอะ รวมถึงรายละเอียดเชิงเทคนิคลึกๆ ด้วยเช่นกัน

    องค์ประกอบของเว็บไซต์ 2 ส่วน

    ก่อนเข้าเรื่อง ควรเข้าใจถึงภาพรวมเว็บไซต์เสียก่อน เว็บไซต์ประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 2 ส่วนหลักๆ (ไม่พูดถึงระบบความปลอดภัย หรือ Software อื่นๆ) คือ

    1. โดเมน หรือ Domain Name: ทำหน้าที่เป็นชื่อเว็บไซต์
    2. โฮสติ้ง, Web Hosting หรือ Server: ทำหน้าที่จัดเก็บข้อมูลบนเว็บไซต์ ซึ่งบางธุรกิจที่ทำในระดับ Advance ก็อาจใช้เป็นบริการ Cloud Computing

    ดังนั้นการที่เราจะมีเว็บไซต์หนึ่งเว็บ จำเป็นต้องมี 2 ส่วนนี้ เพื่อตั้งชื่อให้กับเว็บไซต์ และไว้เก็บข้อมูลเว็บไซต์ โดย 3 ประเภทของโดเมน และการเชื่อมต่อโดเมนเข้ากับ Server จะอธิบายอยู่ส่วนท้ายของบทความ

    ชื่อโดเมน หรือ Domain Name คืออะไร ควรตั้งชื่อแบบไหน

    อธิบายให้ง่ายที่สุด โดเมน คือ ชื่อเว็บไซต์ นั่นเอง เช่น ของ HardcoreCEO โดเมนเนม ของเราคือ hardcoreceo.co ซึ่งชื่อโดเมนนี้จะไม่สามารถซื้อมาเป็นเจ้าของได้ แต่เราจะต้องทำการเช่าเป็นรายปี หรือจะกี่ปีก็ได้ จากบริษัทที่ให้บริการ ลองไปค้นหา Google น่าจะมีให้เลือกเต็มไปหมด ซึ่งตราบใดที่เรายังเช่าอยู่ เราก็จะได้สิทธิ์ความเป็นเจ้าของโดเมนนั้นๆ ตลอด แต่หากเราลืมเช่าต่อจนเกินระยะเวลาที่กำหนด คนอื่นก็สามารถที่จะเข้ามาจดทะเบียนโดเมนนั้นๆ ต่อได้ทันที เราก็จะหมดสิทธิ์ความเป็นเจ้าของโดเมนนั้นไป

    หลายคนอาจจะยังสงสัยว่า แล้วเจ้าโดเมนพวกนี้มันมาจากไหน ใครเป็นคนปล่อยเช่า คำตอบคือ มันมีองค์กรหนึ่งชื่อว่า ICANN (Internet Corporation for Assigned Names and Numbers) ซึ่งเป็นผู้จัดการเรื่องชื่อโดเมน โดยมีหน้าที่กำหนดว่าจะให้มีชื่อโดเมนอะไรบ้าง และจะให้แต่ละโดเมนเชื่อมเข้ากับ Server ไหน

    ประโยชน์ของชื่อโดเมน

    ประโยชน์ของ โดเมน คือ การช่วยให้ผู้ใช้งานจำเว็บไซต์นั้นได้ง่ายขึ้น เพราะปกติแต่ละเว็บไซต์จะต้องมี Server ไว้เก็บข้อมูล และ Server นั้นๆ ก็จะมี IP Address ของตัวเองเป็นตัวเลข เช่น 111.222.33.444 ซึ่งจะจำยาก และไม่เหมาะกับการนำไปใช้ในธุรกิจ

    ดังนั้น Domain Name จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นการตั้งชื่อให้เว็บไซต์ แทนการใช้ IP Address เช่น หากเราให้โดเมน abc.com ลิงก์ไปที่ Server 111.222.33.444 เวลาจะเปิดเว็บไซต์ที่อยู่ใน Server นี้ ก็เข้าผ่าน abc.com ได้เลย

    เคล็ดลับการตั้งชื่อเว็บไซต์ หรือชื่อโดเมน

    การตั้งชื่อโดเมนควรคิดให้ดี และต้องตอบโจทย์กับเนื้อหา ธุรกิจ และจุดประสงค์ของเว็บไซต์นั้นๆ เพื่อให้สะท้อนถึง Branding ของเว็บไซต์ ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการทำการตลาดออนไลน์

    เพราะหากเริ่มรันเว็บไซต์ไปแล้ว จะมาเปลี่ยนชื่อโดเมนทีหลัง อาจเสียโอกาสทั้งด้าน SEO ไปจนถึงเรื่อง Branding ต่างๆ

    นอกจากนี้ ชื่อโดเมนไม่ควรยาวเกินไปเพราะคนจะจำไม่ค่อยได้ และยังลำบากต่อการนำไปใช้ทำการตลาดด้วย เช่น การใส่บนป้ายโฆษณา บนแบนเนอร์โฆษณา เป็นต้น

    ทั้งนี้เราสามารถใช้ชื่อโดเมนเป็นภาษาไทยได้แล้ว เช่น บลาบลา.com แต่ระบบหลายๆ ที่จะยังอ่านภาษาไทยเป็นภาษาต่างดาว เช่น http://xn--r3ca6ab7dc.com/

    ดังนั้นหากต้องการเว็บไซต์ที่เข้าถึงง่ายทั้งในกลุ่มคนไทย และต่างชาติ หรือต้องการนำลิงก์ไปแชร์บนสื่อออนไลน์เยอะๆ แนะนำใช้เป็นภาษาอังกฤษจะตอบโจทย์กว่า

    ข้อควรระวังในการตั้งชื่อเว็บไซต์

    ชื่อโดเมนที่เป็นภาษาอังกฤษ เวลาขึ้นแสดงบน Browser จะเป็นพิมพ์เล็กทั้งหมด และจะต้องพิมพ์ติดกันทั้งหมด ดังนั้นระวังความหมายจะเปลี่ยนจากการพิมพ์ติดๆ กัน หรือบางทีอาจทำให้จับคำยาก อ่านไม่รู้เรื่อง

    เช่น บริษัทชื่อ Wide Advance เมื่อจดโดเมนแล้วจะเป็น www.wideadvance.com บางคนดูผ่านๆ อาจจะจับคำไม่ได้ และอาจจะไปโฟกัสเห็นคำว่า wideadvance.com “dead” แทน ซึ่งเป็นความหมายที่ไม่ดีแน่ๆ

    นามสกุลของโดเมนมีอะไรบ้าง

    ทุกโดเมนจะมีคำต่อท้าย เช่น .com .in.th .co.th .net และอีกมากมาย เราขอเรียกในส่วนนี้ว่านามสกุล แต่ละนามสกุลจะมีความหมายของมัน เช่น

    • โดเมน .com มาจาก Commercial
    • โดเมน .info มาจาก Information
    • โดเมน .org มาจาก Non-commercial Organizations
    • โดเมน .co.th มาจาก Commercial in Thailand

    ซึ่งเราควรเลือกใช้นามสกุลให้เหมาะกับเว็บไซต์ของเรา โดยถ้าเป็นนามสกุลพื้นๆ ที่สุดก็คือ .com แต่หากเป็นองค์กรในไทย ก็สามารถจดเป็น .co.th เพื่อบอกให้คนรู้ว่านี่คือบริษัทในไทยนะ ซึ่งหากต้องการจดทะเบียนโดเมน .co.th คุณต้องจดบริษัทเสียก่อน และใช้เอกสารบริษัทยืนยันการใช้งานโดเมน .co.th

    ถึง .com จะเป็นที่นิยมที่สุด แต่ด้วยความนิยมของมัน ทำให้ชื่อโดเมนหลายๆ ชื่อที่ลงท้ายด้วย .com จะค่อนข้างถูกจองกันไปหมดแล้ว ดังนั้นหากเราต้องการใช้ชื่อนั้นจริงๆ ก็อาจจะใช้เป็น .co.th .in.th .net หรืออื่นๆ แทนได้

    เคล็ดลับการเลือกใช้นามสกุลโดเมน

    ก่อนอื่นต้องรู้จุดประสงค์ของเว็บไซต์ เพื่อที่จะเลือกนามสกุลได้เหมาะสม เช่น หากคุณทำเว็บไซต์ร้านอาหารในไทย ก็อาจจะไม่เหมาะกับนามสกุล .asia

    หากเป็นบริษัทที่ดำเนินการในประเทศไทยเท่านั้น และต้องการความน่าเชื่อถือ ก็สามารถจดเป็น .co.th

    หรือหากคุณต้องการทำ Branding เว็บไซต์ เพื่อให้คนจำง่ายๆ .com ก็จะเหมาะที่สุด แต่เนื่องด้วย .com มีคนใช้เยอะ ชื่อโดเมนที่เราต้องการอาจมีคนอื่นจดไปใช้แล้ว หลายคนก็จะเลี่ยงไปใช้ .net .in.th หรือแม้กระทั่ง .co ซึ่งตอนนี้ .co ก็กำลังขึ้นมาเป็นโดเมนยอดนิยม เนื่องจากมีความใกล้เคียงกับ .com สั้น และจำง่าย

    เนื้อหาต่อจากนี้จะเริ่มลึกขึ้นเล็กน้อย หากใครต้องการหาความรู้เพิ่มเติมก็ลุยต่อได้เลย แต่หากยังกลัวมึน เซฟลิงก์บทความนี้เก็บไว้ก่อน หรือแชร์ไปเก็บบน Social Media ก่อนก็ได้ หากเริ่มคล่องขึ้นค่อยเข้ามาอ่านต่อ

    การแบ่ง Domain Level เป็น 3 ประเภทโดเมน

    ทีนี้เราน่าจะเริ่มเข้าใจถึงนามสกุลของโดเมนกันมากขึ้นแล้ว หากใครอยากรู้ว่า โดเมนเนมมีกี่ประเภท และอยากลงลึกรายละเอียดของ Domain Level ก็มาลองแบ่งประเภทโดเมนกับเราต่อได้เลย หากใครไม่อยากลงลึก ข้ามได้ครับ

    Top-Level Domain

    Top Level Domain (TLD) คือ นามสกุลโดเมนที่อยู่ท้ายสุด เช่น hardcoreceo.co ก็คือ “.co” ที่ถูกเรียกว่า Top-Level

    ซึ่ง Top-Level Domain จะสามารถแยกได้เป็น 2 แบบ

    • Generic Top-Level Domain (gTLD): Top-Level Domain ประเภทนามสกุลทั่วไป เช่น .com .info .org .net หรือจะเป็น .biz .name .asia .edu .gov ก็ด้วยเช่นกัน
    • Country Code Top-Level Domain (ccTLD): Top-Level Domain ประเภทนามสกุลชื่อประเทศ เช่น .jp (ญี่ปุ่น) .us (อเมริกา) เช่น  abc.co.th “.th” คือ Top Level

    Second-Level Domain

    Second Level Domain (SLD) คือ ส่วนของโดเมนที่รองลงมาจาก Top-Level เช่น hardcoreceo.co ก็คือ “hardcoreceo” ที่ถูกเรียกว่า Second-Level

    แต่หากบางเว็บไซต์ที่ใช้ชื่อโดเมนแบบ .in.th ก็จะมี .th ที่เป็น Country Code Top-Level และมี .in เป็น Country Code Second-Level

    Third-Level Domain

    Third Level Domain คือ ส่วนที่อยู่ถัดมาจาก Second-Level Domain เช่น abc.in.th ก็จะมี

    • .th เป็น Top Level Domain (ccTLD)
    • .in เป็น Second Level Domain
    • abc เป็น Third Level Domain

    ส่วนพวก “www” จะเรียกว่า Sub Domain ซึ่งบางเว็บไซต์อาจมี Sub Domain เป็นblog.abc.com หรือ m.abc.com ก็ได้เช่นกัน ส่วนใหญ่จะใช้แยกเว็บไซต์ อย่าง blog.abc.com ก็คือเว็บไซต์ในส่วนของ Blog ที่สร้างแยกออกมาจากเว็บไซต์หลัก หรือ m.abc.com ก็อาจเป็น Mobile Version สำหรับเว็บไซต์ abc.com เช่นถ้าเข้าเว็บไซต์ผ่านมือถือ ระบบจะบังคับให้เว็บ m.abc.com ถูกเรียกใช้งานแทน

    และสุดท้าย http หรือ https เรียกว่า Protocol

    โดเมนเชื่อมต่อกับ Server ได้อย่างไร

    อย่างที่ได้เกริ่นไปว่า เว็บไซต์ประกอบด้วย Domain และ Server โดยแต่ละ Server จะมี IP Address ของตัวเอง เมื่อเราจดทะเบียนเช่าโดเมน และ Server แล้ว จะต้องทำการชี้โดเมน ไปที่ Server ที่เก็บข้อมูลเว็บไซต์ของเรา

    ถ้าหากใครไม่อยากทำความเข้าใจในส่วนนี้ ให้ลองแจ้ง หรือสอบถามบริษัทที่เราไปใช้บริการ ว่า “ช่วยดำเนินการชี้โดเมน xxx.com ไปที่ Server IP 111.222.33.444 ได้ไหม หรือไปที่ Name Server xxxxxx ได้ไหม” ซึ่งทางบริษัทก็จะสามารถช่วยได้ (แต่บางบริษัทอาจส่งคู่มือมาให้คุณลองทำเอง) หรือหากคุณซื้อบริการเช่าโดเมน และ Server พร้อมกัน บางครั้งทางบริษัทจะเชื่อมให้เลย

    ซึ่งหากเจาะลึกลงไปอีกหน่อย การชี้โดเมนไปยัง Server จะสามารถชี้ด้วยการตั้งค่า NS (Name Server) โดยแต่ละ Server ก็จะมี NS ของมันเองอยู่ ส่วนใหญ่จะมี 2 อัน หน้าตาคล้ายๆ แบบนี้

    • dm21.hostsample.com
    • dm22.hostsample.com

    NS นี้ ทางบริษัทที่คุณใช้บริการจะเป็นผู้แจ้งคุณเอง รวมถึง IP ของ Server ด้วยเช่นกัน สำหรับผู้ประกอบการที่ยังไม่ค่อยมีความรู้ แนะนำให้ทางบริษัทจัดการให้เลยสะดวกกว่า

    เมื่อได้ทำการตั้งค่า NS ที่โดเมน ชี้ไปยัง Server ที่จะใช้งานแล้ว ก็รอให้ระบบดำเนินการสักพัก การเชื่อมต่อก็จะสมบูรณ์ สังเกตง่ายๆ จากการทดลองเข้าโดเมน แล้วลองดูว่ามันไปขึ้นแสดงหน้าเว็บใน Server นั้นแล้วหรือยัง

    เป็นไงกันบ้าง หวังว่าน่าจะพอได้เห็นภาพว่า โดเมน คืออะไร และทำงานอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรรู้หากต้องการเริ่มเข้าทำธุรกิจบนช่องทางออนไลน์ในยุคดิจิทัล หากต้องการรู้เรื่องอะไรเพิ่มเติมแจ้งเราได้เลย!

    Reference: domain.com, wikipedia.org

    ชอบเรื่องนี้แค่ไหน ให้หัวใจเราหน่อย

    หัวใจเฉลี่ย / 5. จำนวนโหวด

    แชร์บทความนี้! อาจเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ ของคุณ

    ติดตามเราบน Facebook

    เราขอโทษด้วยที่โพสต์นี้ไม่ดีพอสำหรับคุณ

    รบกวนขอ Feedback เพื่อให้เราได้ปรับปรุงนะครับ

    เพื่อประสิทธิภาพในการแสดงผล และการพัฒนาปรับปรุงเว็บไซต์ hardcoreceo.co เราจึงใช้คุกกี้เพื่อเก็บข้อมูลมาพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

    Privacy Preferences

    คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

    Allow All
    Manage Consent Preferences
    • คุกกี้ที่จำเป็น
      Always Active

      ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

    • คุ้กกี้เพื่อการวิเคราะห์

      คุ้กกี้เพื่อการวิเคราะห์

    Save