หลังจากที่เราได้รู้จักความหมายของการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) และ Entrepreneurship รวมถึง Entrepreneur Mindset ของการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ใน EP.1 และ EP.2 แล้ว ใน EP.3 นี้เราจะมาเจาะลึกเกี่ยวกับ การเงินธุรกิจ การวางแผนเงินลงทุน และค่าใช้จ่ายในการเริ่มต้นธุรกิจ ว่ามีอะไรบ้างที่ผู้ประกอบการจะต้องคำนึงถึง เพราะเรื่องการเงินสำหรับธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้นคือหัวใจสำคัญ หากคุณประเมินเงินทุนสำหรับเริ่มต้นธุรกิจผิด ความบานปลายก็จะเกิดขึ้น เช่น การขาดกระแสเงินสด ซึ่งอาจทำให้การเริ่มต้นไม่ราบรื่นได้
หลายคนคิดว่าเรื่องการเงินธุรกิจเป็นเรื่องยาก ซึ่งจริงๆ แล้ว เรื่องการเงินไม่ได้ยากขนาดนั้น โดยเฉพาะในบทความนี้ที่เราพยายามมอธิบายแบบง่ายที่สุด มือใหม่ไม่มีพื้นฐานทางการเงินก็สามารถเข้าใจได้ (ถ้ายังง่ายไม่พอให้แจ้งเราได้เลย จะกลับมาเรียบเรียงใหม่ให้นะครับ)
Think Big. Start Small.
Think Big. Start Small. คือคอนเซปต์ที่เราเชื่อว่าดีที่สุดสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจในยุคที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีข้อได้เปรียบในการทำ Data Driven Marketing ที่สามารถใช้ข้อมูลมาเป็น Feedback ในการปรับตัวให้เข้ากับตลาด
ซึ่งการ Start Small ไม่ได้หมายความว่าให้เริ่มแบบซอมซ่อ แต่หมายความว่า เมื่อเรามองเป้าหมายระยะยาวอย่างชัดเจนแล้ว ให้แบ่งออกมาเป็น Phrase ย่อยๆ และค่อยๆ เริ่มที่ละนิด Step by Step อะไรที่ยังไม่จำเป็นต้องลงทุนใน Phrase นั้นๆ ก็อย่าไปเสียเงินกับมัน
ที่นี้เรามาลองดู 5 ขั้นตอนการเริ่มวางแผนเงินทุนสำหรับเริ่มต้นธุรกิจกันครับ
บทความนี้เขียนโดย HardcoreCEO อ้างอิงหลักการเงินเบื้องต้นในธุรกิจ โดยยกตัวอย่างและให้คำแนะนำจากประสบการณ์ตามฉบับของ HardcoreCEO หากท่านใดจะนำไปใช้อ้างอิง รบกวนให้เครดิตและใส่ลิงก์กลับมายังหน้าบทความนี้
5 ขั้นตอนการวางแผนการเงินธุรกิจเบื้องต้นสำหรับผู้เริ่มต้นลงทุน
1. เข้าใจการวางงบประมาณในแต่ละช่วงของธุรกิจ
การลงทุนเงินจำนวนมากภายในระยะเวลาอันสั้นอาจสร้างผลเสียให้กับบริษัทของคุณมากกว่าผลดี การเริ่มต้นธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งต้องระมัดระวังให้มาก เพราะไอเดียธุรกิจที่คุณมีอาจจะไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ใจหวังก็ได้ ทำให้วิธีที่ดีที่สุดก็คือเริ่มต้นธุรกิจจากเล็กๆ ก่อน แล้วทำการวิเคราะห์ในเบื้องต้น ทำ Market Analysis ว่าสินค้าของคุณนั้นเป็นที่ต้องการของลูกค้าหรือไม่ ลูกค้ารู้สึกพึงพอใจที่จะจ่ายในราคาเท่าไหร่ และเมื่อคุณมองว่าผลตอบรับแรกที่มีค่อนข้างดีแล้ว ก็ค่อยวางแผนเพื่อพัฒนาธุรกิจของคุณต่อไป และอย่าลืมทำ SWOT Analysis เพื่อให้รู้ว่าอะไรจำเป็นที่สุดสำหรับการลงทุนเพื่อพัฒนาธุรกิจ
ดังนั้นเวลาจะวางแผนเงินลงทุนธุรกิจควรแบ่งงบประมาณให้เพียงพอสำหรับแต่ละ Phrase ของธุรกิจด้วย ไม่ใช่มีเงิน 1,000,000 บาท ผลิตสินค้า 600,000 บาท แล้วเอาเงินที่เหลือ 400,000 บาทไปลงโฆษณา ซึ่งหากไม่เป็นไปตามที่คิด หรือต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาสินค้าเพิ่ม ก็อาจลำบากในการนำเงินมาพัฒนาต่อ
ต้องเข้าในก่อนว่าธุรกินนั้นประกอบไปด้วยหลาย Phrase เช่น
- Phrase ที่ 1 (Setting Up) คือการเตรียมพร้อมสำหรับเริ่มต้นธุรกิจ เช่น จัดตั้งบริษัท จ้างทีมงานที่จำเป็น ผลิตสิตค้า เป็นต้น
- Phrase ที่ 2 (Launching & Learning) เริ่มนำสินค้าเข้าสู่ตลาด หรือเริ่มเปิดร้าน อาจมีการเริ่มทำการตลาด ทำโฆษณา ซึ่งตรงนี้จะทำเองทั้งหมด หรือจะให้ Digital Agency เข้ามาช่วยบางส่วนก็ต้องลองดู ซึ่งในขั้นตอนนี้ลองคอยวัดผลอย่างใกล้ชิด เพื่อเรียนรู้ว่าสินค้าอะไรที่ลูกค้าชอบ สินค้าอะไรที่ลูกค้าไม่ชอบ โดยต้องคอยฟัง Feedback ของลูกค้าเพื่อพัฒนาต่อ
- Phrase ที่ 3 (Improvement) นำ Feedback ที่ได้จาก Phrase ที่ 2 มาปรับปรุงต่อ เช่น พัฒนาระบบ พัฒนาบริการ พัฒนาสินค้า พัฒนาแผนการตลาด เพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากยิ่งขึ้น
- Phrase ที่ 4 (Scaling) เริ่มขยายธุรกิจ ซึ่ง Phrase นี้อาจใช้เงินที่ได้กำไรจากการดำเนินการธุรกิจมาต่อยอด หรือเพิ่มทุนในธุรกิจก็ได้เช่นกัน
ซึ่งการวางงบประมาณก็ต้องลองคำนวณดูว่าเงินก่อนนี้จะวางแผนใช้ใน Phrase อะไร โดยคำถามต่อมาคือ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าต้องเตรียมเงินเท่าไหร่.. ไปหาคำตอบในข้อต่อไปกันเลย
2. การประเมินเงินทุน งบประมาณในการเริ่มต้นธุรกิจ จุดคุ้มทุน และ จุดคืนทุน
การประเมินเงินทุนและวางแผนเงินทุนธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะหากมีเงินสดไม่เพียงพอ ธุรกิจก็อาจขาดสภาพคล่องได้
สตาร์ทอัพส่วนใหญ่ต้องปิดกิจการเนื่องจากขาดเงินทุนในการหมุนเวียนค่าใช้จ่ายในบริษัท (Cash Flow)
แต่ละธุรกิจก็มีเงินลงทุนในจำนวนที่ต่างกันออกไป โดยจากข้อมูลของ U.S. Small Business Administration (SBA) พบว่าธุรกิจขนาดเล็กส่วนใหญ่ใช้เงินลงทุนสำหรับเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 2,000 – 5,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 65,000 – 165,000 บาท
หากดูในประเทศไทย ถ้าเป็นธุรกิจเล็กๆ ก็จะใช้เงินทุนในการเริ่มต้นในช่วงนี้เช่นกัน โดยหากเป็นบริษัทที่จดทะเบียน ก็จะเริ่มต้นด้วยทุนจดทะเบียน 500,000-1,000,000 บาท
และไม่ว่าเงินทุนธุรกิจของคุณจะเป็นเท่าไหร่ หัวใจสำคัญคือการเตรียมเงินสำรองสำหรับค่าใช้จ่ายอย่างน้อยให้เพียงพอกับช่วงระยะเวลาที่คาดการณ์ว่าจะ Break-even ไม่ใช่ใช้ทีเดียวหมดเกลี้ยง
เช่น หากธุรกิจของคุณมีค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน 100,000 บาท โดยคาดการณ์ว่า 6 เดือน ธุรกิจของคุณจะ Break-even หมายความว่าสามารถมีรายรับได้อย่างน้อย 100,000 บาท คุณก็จะต้องเตรียมเงินสำหรับหมุนเวียนอย่างน้อย 600,000 บาท หรือมากกว่า เพื่อความปลอดภัยหากเกิดอะไรที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน
หลายๆ ธุรกิจ ไม่เพียงแต่ค่าใช้จ่ายรายเดือน แต่ยังต้องมีเงินก้อนแรกสำหรับลงทุน (Initial Investment) ด้วย ยกตัวอย่างเช่นร้านกาแฟ ก่อนจะเปิดร้านได้ เราก็ต้องมีการ Renovate ร้าน ตกแต่งร้าน ซื้ออุปกรณ์ต่างๆ รวมแล้ว 800,000 บาท เงินก้อนนี้คือ Initial Investment ก่อนที่จะเริ่มเปิดร้านได้
โดยค่าใช้จ่าย 100,000 บาทต่อเดือน ก็จะเป็นการดำเนินการอื่นๆ เพื่อให้ร้านกาแฟดำเนินการต่อไปได้ เช่น ค่าเช่าที่ ค่าจ้างพนักงาน ค่าน้ำ และค่าไฟ เป็นต้น
เมื่อคำนวณดูแล้ว การเปิดร้านกาแฟร้านนี้ คุณต้องมีเงินเตรียมไว้อย่างน้อย 800,000 + 600,000 = 1,400,000 บาท
เมื่อไหร่ก็ตามที่ธุรกิจของคุณขาดสภาพคล่อง หรือขาด Cash Flow ปัญหาจะตามมา หลายธุรกิจอาจต้องเริ่มหาแหล่งเงินทุน ไปจนถึงเงินกู้นอกระบบ ซึ่งเราไม่แนะนำเลยครับ
แล้วเงินทุนในส่วนของ Initial Investment 800,000 บาท ไม่เอามาคำนวณจุดคุ้มทุนด้วยเหรอ?
เงินลงทุนก้อนแรกเราจะไม่เอามาคำนวณจุดคุ้มทุน แต่เราจะเอามาคิดในส่วนของ “จุดคืนทุน” ซึ่งก่อนจะคำนวณจุดคืนทุนได้ คุณต้องรู้จุดคุ้มทุนก่อน
เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ “รายรับ มากกว่า รายจ่าย” บริษัทก็จะเริ่มมี “กำไร” และกำไรที่ได้เนี่ยแหละ ที่จะต้องเอามาคำนวณว่าเมื่อไหร่จะ “คุ้มทุน”
เช่น ตามตัวอย่างก่อนหน้านี้ ในเดือนที่ 6 รายรับจะเท่ากับรายจ่าย ซึ่งเป็นเดือนที่ Break-even สมมติว่าหลังจากเดือนที่ 7 บริษัทจะมีรายรับ 200,000 บาททุกเดือน เท่ากับว่ามีกำไร 100,000 บาทต่อเดือน หมายความว่า หากกำไรเท่านี้ต่อเนื่องไป 8 เดือน รวมเป็น 800,000 บาท ก็จะสามารถคืนทุนในส่วนของ Initial Investment ที่ลงทุนไปก้อนแรกนั่นเอง
ดังนั้น ในตัวอย่างนี้ เราจะคุ้มทุนใน 6 เดือน และจะคืนทุนใน 14 เดือน
3. การแบ่งประเภทของค่าใช้จ่ายในการลงทุน
ถึงตรงนี้ก็น่าจะทราบกันแล้วนะครับว่าแนวคิดในการเตรียมเงินทุนธุรกิจเพื่อให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการเริ่มต้นธุรกิจเป็นประมาณไหน
ทีนี้เราจะมาลงลึกเรื่องการแบ่งประเภทของค่าใช้จ่ายอีกนิดนึง เพื่อให้เห็นค่าใช้จ่ายของแต่ละส่วนได้ชัดเจนขึ้น
ค่าใช้จ่ายในธุรกิจมีทั้งต้นทุนแบบจ่ายครั้งเดียวและจ่ายต่อเนื่อง โดยเราจะมาแบ่งให้เห็นภาพง่ายๆ เป็น 3 ก้อนด้วยกัน
- Initial Investment คือ ค่าใช้จ่ายหลักๆ สำหรับการลงทุนครั้งแรก เช่น ค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนและก่อตั้งบริษัท อุปกรณ์สำหรับการผลิตและให้บริการในเบื้องต้น ค่าเฟอร์นิเจอร์ในสำนักงาน เป็นต้น ซึ่งจะจ่ายครั้งเดียวเพื่อเริ่มต้นธุรกิจ โดยต้องพิจารณาใช้เงินเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น อย่าลืมว่าเรายังมี Phrase ต่อๆ ไปที่จำเป็นต้องใช้เงิน
- Fixed Cost คือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทุกเดือนเมื่อธุรกิจเริ่มดำเนินการแล้ว โดย Fixed Cost คือค่าใช้จ่ายที่ยังไงก็ต้องจ่าย แม้ว่าธุรกิจจำเริ่มทำเงินแล้วหรือไม่ก็ตาม เช่น ค่าเช่าสถานที่ ค่าเสื่อมสภาพ หรือดอกเบี้ยจากการกู้ยืม เป็นต้น
- Variable Cost คือค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน ที่อาจเพิ่มหรือลดตามยอดขายหรือผละประกอบการ เช่น ค่าโฆษณา ค่าคอมมิชชันสำหรับพนักงานขาย หรือค่าขนส่งสินค้า เป็นต้น
รายจ่ายทั้งหมดในแต่ละเดือน จะเท่ากับ Fixed Cost + Variable Cost
เพื่อให้การทำธุรกิจคล่องตัวในช่วงแรก การลด Fixed Cost คือสิ่งสำคัญ แนะนำให้จ่ายเฉพาะในส่วนที่จำเป็นเท่านั้น เพราะหาก Fixed Cost สูง ก็จะทำให้ระยะเวลา Break-even นานตามไปด้วย
ในส่วนของ Variable Cost ก็ต้องตรวจสอบให้ดีกว่ามีความคุ้มค่า เพราะ Variable Cost จะขึ้นและลงตามจำนวนการผลิตและจำนวนการขาย ถ้าหากยอดขายตก การผลิตลดลง แต่ Variable Cost สูงขึ้น ก็ถือเป็นสัญญาณบอกว่าธุรกิจกำลังเกิดปัญหาหรือทำอะไรผิดพลาด
ตัวอย่างรายการค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมเงินทุนธุรกิจในช่วงเริ่มต้น
สำหรับธุรกิจเปิดใหม่ ส่วนใหญ่ก็จะมีค่าใช้จ่ายประมาณนี้ในช่วงเริ่มต้น
- ค่าเช่าสำนักงาน
- ค่าเฟอร์นิเจอร์สำนักงาน
- ค่าจ้างพนักงานที่จำเป็น
- ค่าอุปกรณ์ที่ใช้ในสำนักงาน
- ค่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ
- ค่าประกันและใบอนุญาติต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจ
- ค่าโฆษณาและโปรโมทธุรกิจ
- ค่าจัดทำเว็บไซต์
- ค่าน้ำค่าไฟ
- ค่าเดินทาง
- ค่าภาษี (เตรียมค่าปรับไว้ด้วย เพราะหากเป็นมือใหม่ คุณอาจมีโอกาสพลาดในการยื่นแบบภาษีต่างๆ ซึ่งจะโดนปรับได้บ้างในช่วงแรก แต่ถ้าเลือกสำนักงานบัญชีดีๆ หรือทีมพนักงานบัญชีเก่งๆ ก็อาจช่วยลดในส่วนนี้ได้)
4. เลือกแหล่งเงินทุนของธุรกิจ
หลังจากที่วางแผนเงินทุนธุรกิจและประเมินค่าใช้จ่ายสำหรับเริ่มต้นธุรกิจแล้วขั้นตอนต่อไปก็ต้องลองคิดดูว่าจะหาเงินจากไหนเริ่มลงทุน
แหล่งเงินทุนสำหรับธุรกิจออกเป็นทั้งหมด 6 แบบด้วยกัน
- Bootstrap คือ เงินลงทุนของตัวเอง ครอบครัว หรือพาร์ทเนอร์ธุรกิจ
- Angel Investor คือ เงินทุนจากกลุ่มนักลงทุนอิสระที่มาร่วมลงทุนกับธุรกิจสตาร์ทอัพ
- Incubator / Accelerator คือ หน่วยงานสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจที่ลงทุนเพื่อช่วยธุรกิจขยายกิจการ เช่น TrueIncube หรือ DTAC Accelerate (ปิดตัวแล้ว)
- Crowdfunding คือ การระดมทุนจากสาธารณะผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ
- Venture Capital (VC) คือ กลุ่มนักลงทุนในรูปแบบองค์กรหรือนักลงทุนสถาบัน แลกกับหุ้นส่วนบริษัท
- Loan คือ การกู้ยืมจากธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อของ krungsri, kbank, scb และธนาคารอื่นๆ ก็สามารถลองหาข้อมูลเพิ่มเติมได้เลย
โดยธุรกิจส่วนใหญ่จะเริ่มต้นมาจาก Boostrap ด้วยเงินเก็บของตนเองหรือคนในครอบครัว หรือหากในบริษัทมีหุ้นส่วนธุรกิจ ก็อาจจะต้องมารวมเงินกัน แบ่งสัดส่วนตามจำนวนหุ้นที่ถือ เป็นต้น
เมื่อธุรกิจเริ่มโตขึ้นและเริ่มมีศักยภาพในการเติบโต ก็สามารถหาแหล่งเงินทุนอื่นเพิ่มเติมได้ โดยอาจจะเพิ่มทุนจากเงินของหุ้นส่วน หรือจะหา Angel Investor หรือ VC เข้ามาร่วมลงทุนในกิจการก็ได้
แต่หากธุรกิจของคุณมีกำไรสะสมเยอะ ก็สามารถนำ Retained Earning หรือ กำไรที่สะสมมาเรื่อยๆ มาลงทุนต่อไป
บางธุรกิจอาจมองเห็นศักยภาพของบริษัทและไม่ต้องการเสียหุ้นในกิจการ ก็อาจเลือกช่องทางการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ทั้งนี้ อย่าลืมว่าดอกเบี้ยเงินกู้จะเข้ามาเพิ่ม Fixed Cost ของบริษัททุกๆ เดือน
โดยเราไม่แนะนำให้เริ่มต้นด้วยการกู้ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ศักยภาพของธุรกิจ หรือยังไม่ได้ลองตลาด เพราะอาจทำให้บริษัทมีภาระหนี้ตั้งแต่เริ่มต้น และอาจส่งผลให้มีปัญหาได้ถ้าธุรกิจไม่ได้เป็นไปตามที่วางแผนเอาไว้
5. จัดทำบัญชี
สุดท้ายนี้ เมื่อพูดถึงเรื่องการลงทุนจัดตั้งกิจการ การทำบัญชีคือเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการหลายคนมองข้าม
การจัดทำบัญชีเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับธุรกิจ ไม่ใช่แค่เพื่อไว้คำนวณภาษีปลายปีเท่านั้น แต่ยังทำให้บริษัทรู้ถึงรายรับรายจ่าย และกระแสเงินสดของบริษัทอย่างละเอียดด้วย
การทำบัญชีที่ถูกต้องจะช่วยให้เรารู้สถานะทางการเงินของบริษัทอย่างชัดเจน ช่วยในการตัดสินใจในการลงทุน และค่าใช้จ่ายในบริษัทได้ดียิ่งขึ้น
เพราะหากทำบัญชีผิด เช่น ลืมคิดค่าเสื่อมสภาพ ทำให้กำไรของกิจการเยอะเกินจริง ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดและไม่เหมาะสมกับสถานะทางบัญชีของบริษัท
โดยการทำบัญชีก็อาจจะจ้างสำนักงานบัญชี หรือจะจ้างพนักงานประจำเข้ามาทำให้เลยก็ได้ ซึ่งก็ต้องมั่นใจว่าจะสามารถดูแลได้ตั้งแต่เรื่องการลงบัญชี การนำส่งภาษี การจัดการเรื่องเงินเดือนพนักงาน ประกันสังคม ไปจนถึงการปิดงบประจำปี
โดยสมัยนี้จะมีเทคโนโลยีในการลงบันทึกบัญชีมากมายให้เลือกใช้สำหรับธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น แทนการลงบันทึกในสมุดหรือ Excel เช่น ระบบของ flowaccount, smemove, peakaccount และ prosoftibiz ซึ่งบทความนี้ไม่ได้รับการโฆษณาหรือการสนับสนุนจากแบรนด์ใด แต่ละระบบมีข้อดีและข้อเสีย แนะนำให้ลองไปศึกษาดูว่าระบบไหนจะเข้ากับธุรกิจของคุณมากที่สุด
สรุปความรู้จากบทความนี้
พื้นฐานการเงินธุรกิจ ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ต้องทำความเข้าใจและมีความละเอียดรอบคอบในการวางแผน หากคุณสามารถทำได้ครบทั้ง 5 ข้อนี้ ธุรกิจของคุณก็จะสามารถดำเนินต่อไปได้ด้วยความเสี่ยงที่ลดลงจากการเริ่มต้นธุรกิจ Step by Step โดยการแบ่งเป็น Phrase เริ่มจากที่จำเป็นที่สุดก่อน และเตรียมเงินสำหรับใช้จ่ายในกิจการ แบ่งเป็น Initial Cost, Fixed Cost (FC) และ Variable Cost (VC) โดยลองเอา FC+VC จะเท่ากับเงินที่คุณจำเป็นต้องเตรียมไว้ใช้ในทุกๆ เดือน ซึ่งคุณจำนวนนี้ไปอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อให้เพียงพอสำหรับใช้จ่ายในช่วงเริ่มต้น หรือในบางธุรกิจอาจต้องเตรียมเผื่อไว้ 12-18 เดือน ก็ต้องลองประเมินดูว่าธุรกิจของคุณจะเริ่มสร้างยอดขายได้เมื่อไหร่
หลังจากที่รู้แล้วว่าต้องใช้เงินเท่าไหร่ ก็ถึงเวลาเตรียมเงินทุนธุรกิจ สำหรับธุรกิจขนาดเล็กถึงขนาดหลาง ในเงินลงทุนหลักแสน แนะนำให้เริ่มจากเงินเท่าที่หาได้ก่อน ยังไม่แนะนำให้เริ่มกู้เงินตั้งแต่วันแรก หรือในช่วงที่ยังไม่แน่ใจว่าธุรกิจจะไปได้หรือไม่ เพราะอาจจะสร้างภาระหนี้ให้กับกิจการได้ อย่าลืมว่าดอกเบี้ยจะเข้ามาเป็น Fixed Cost ของบริษัททุกๆ เดือน
สุดท้าย การทำบัญชีอย่างถูกต้องคือหัวใจสำคัญในการตัดสินใจลงทุนและเข้าในสถานะทางการเงินของกิจการ