ผู้ประกอบการ หรือ เจ้าของกิจการ หรือ Entrepreneur คือ อีกหนึ่งอาชีพที่หลายคนให้ความสนใจในยุคนี้ หลายคนอยากเป็นเจ้านายตัวเอง หลายคนอยากออกจากงานประจำเพื่อมาทำอะไรที่เป็นของตัวเอง บทความนี้คือ EP.1 สำหรับคู่มือเริ่มต้นธุรกิจ เราเลยจะมาแชร์กันตั้งแต่แก่นของ Entrepreneurship และการเป็น Entrepreneur ไปจนถึง 5 ประเภทธุรกิจที่แตกต่างกันโดยสินเชิง ซึ่งหากคุณอยากเป็นเจ้าของกิจการ ก็อาจจะต้องลองดูว่าธุรกิจแบบไหนเหมาะกับตัวเองที่สุด
ก่อนอื่นอยากให้ทำความเข้าใจระหว่าง Entrepreneurship กับ Entrepreneur ก่อนว่าคืออะไร ต่างกันอย่างไร
Related Posts
Entrepreneurship คืออะไร
Entrepreneurship คือ ความเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นทักษะความสามารถในการสร้างและพัฒนาธุรกิจที่สามารถแก้ปัญหาใหญ่ๆ ในสังคมได้ ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ผ่านสินค้าหรือบริการ ซึ่งก็จะส่งผลไปถึงการสร้างผลกำไรให้กับธุรกิจ
ทุกคนสามารถมี Entrepreneurship Skill หรือมีความเป็นผู้ประกอบการได้ ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ประกอบการ หรือเจ้าของธุรกิจ.. งงหรือเปล่า
สาเหตุเพราะ ทุกวันนี้ “ความเป็นผู้ประกอบการ” มันกลายเป็น Skill ที่ทุกคนสามารถพัฒนาได้ หลักๆ จะอยู่ที่มุมมอง และ Mindset ซึ่งหลายบริษัทเวลาเปิดรับพนักงานในบางตำแหน่ง เขาจะมองหา “ความเป็นผู้ประกอบการ” ในตัวของผู้สมัคร เพราะหากพนักงานมี Entrepreneurship Skill หรือ Entrepremeurial Mindset (เจาะลึกใน EP.2) ก็ย่อมมั่นใจไปเปราะหนึ่งว่าความคิดของคนๆ นั้นมีโอกาสพาธุรกิจเติบโตขึ้นไปได้อีก และสามารถพัฒนาพนักงานคนนั้นขึ้นไปในระดับบริหารได้
เช่น หากคนที่ไม่มี Entrepreneurship Skill เจอปัญหาต่างๆ ในสังคมก็อาจจะมองผ่านไป แต่คนที่มีEntrepreneurship kill หรือEntrepreneurship Mindset จะมองปัญหาเป็นโอกาสในการพัฒนาต่อยอดสินค้าเพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาเหล่านั้น
บางคนเป็นนักพัฒนาสินค้า สามารสร้างสินค้าออกมาขายได้ แต่ไม่มี Entrepreneurship Skill สุดท้ายสินค้านั้นก็อาจไม่สามารถประสบความสำเร็จ และสร้างกำไรได้เช่นกัน เพราะ Entrepreneurship Skill มันไม่ใช่แค่มีไอเดียสร้างสินค้าแล้วจบ มันต้องดูเรื่องอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการบริการคน การบริการเงิน การวางแผนการลงทุน และอีกมากมาย ซึ่งเดี๋ยวเราจะเล่าให้ฟัง
Entrepreneur คืออะไร
Entrepreneur คือ ผู้ประกอบการ หมายถึงคนที่สามารถมองเห็นปัญหา และสร้างสินค้า หรือบริการเข้ามาแก้ปัญหา เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในวงกว้าง จนเกิดเป็นการลงทุนทำธุรกิจท่ามกลางภาวะตลาดที่มีความเสียง และสามารถสร้างกำไรจากธุรกิจนั้นได้
ถึงตรงนี้คุณน่าจะเริ่มเข้าใจแล้วว่า Entrepreneur คือคน ส่วน Entrepreneurship คือ Skill ที่ใครๆ ก็สามารถพัฒนาได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็น Entrepreneur
การเป็น Entrepreneurship หรือ ผู้ประกอบการเกิดได้จากความตั้งใจ หรือความบังเอิญก็ได้..
บางคนตั้งใจเลยว่า “ฉันจะเป็นผู้ประกอบการ ฉันจะทำธุรกิจ” ซึ่งอาจจะยังไม่มีไอเดียธุรกิจ ก็ต้องไปทำการวิเคราะห์ต่างๆ เช่น Market Analysis (อ่านต่อ Market Analysis คืออะไร) ว่าในสังคมมีปัญหาอะไรอยู่บ้าง เป็นปัญหากับคนกลุ่มไหนบ้าง เราจะสร้างสินค้าอะไรไปตอบโจทย์คนกลุ่มนี้ เพื่อหาไอเดียธุรกิจ และความเป็นไปได้ในตลาดนั้นๆ
ในขณะที่บางคนใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ แต่มี Entrepreneurship Skill จึงสามารถมองเห็นถึงปัญหาในชีวิตประจำวัน และสร้าง Solution ออกมาแก้ปัญหานั้นได้ จนเป็นธุรกิจ
ยกตัวอย่าง สตาร์ทอัพที่ชื่อว่า Canva (แพลทฟอร์มดีไซน์งานกราฟิก) เกิดขึ้นมาจาก “Melanie Perkins” ซึ่งตอนนั้นPerkins เรียนอยู่มหาวิทยาลัย และพบว่า หลายคนมีอาชีพเสริมโดยการสอนนักเรียนในโปรแกรมดีไซน์ต่างๆ เช่น โปรแกรมของ Adoby หรือ Miscrosoft ซึ่งใช้งานยากมาก กว่าจะใช้กันเป็นก็ต้องสอนตั้งแต่ว่าปุ่มอะไร อยู่ตรงไหน สุดท้ายPerkins จึงนำปัญหานี้มาสร้าง Platform ดีไซน์ออนไลน์ “Canva” ที่สามารถใช้งานได้ง่าย ใครๆ ก็ดีไซน์ได้ และสามารถใช้ได้ฟรี จนล่าสุดตอนนี้ระดมทุนได้ด้วยมูลค่า 4 แสนล้านบาท
ซึ่งหากใครสนใจเริ่มธุรกิจด้วยการนำเทคโนโลนีมาใช้ เราแนะให้ลองอ่าน 14 เทรนด์เทคโนโลยี เพื่อเป็นไอเดียว่าในปี 2023 และ 2024 เทคโนโลยีจะพาโลกเราไปในทิศทางไหน
หลายอย่างที่อำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันของเราเกิดมาจาก Entrepreneur หรือผู้ประกอบการ ที่พยามจะแก้ปัญหาให้กับคนในวงกว้าง ทำให้ Entrepreneur เป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่สำคัญต่อเศรษฐกิจ และการพัฒนาของโลก
4 หน้าที่หลักของ Entrepreneur
ถึงแม้ผู้ประกอบการจะมีหน้าที่มากมาย แต่ 4 หน้าที่หลักๆ ที่ยังไงก็ต้องทำ และไม่สามารถหนีได้คือ
- เป็นผู้นำ มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล บริหารทีมงาน บริหารองค์กร รวมถึงสร้างระบบบริหาร และวัฒนธรรมองค์กร
- สรรหาบุคลากร และทีมงานเข้ามาร่วมสร้างธุรกิจ ถึงแม้หน้าที่หน้าจะสามารถให้ HR เข้ามาช่วย แต่ผู้ประกอบการต้องควบคุมและกำหนดคุณภาพว่าพนักงานควรเป็นคนลักษณะไหน มี Mindset อย่างไร
- ดูแลด้านการเงิน หาแหล่งทุนสำหรับธุรกิจ และบริหารการเงิน รวมถึงการลงทุนในบริษัท
- ดูเรื่องแผนธุรกิจ หรือ Business Plan และให้มั่นใจว่าบริษัทกำลังเดินตามแผนที่วางไว้
นอกเหนือจากที่ก็อยู่ที่แต่ละธุรกิจแล้วว่ามี Scale ขนาดไหน มีทีมงานมากน้อยแค่ไหน เพราะหากบริษัทเล็กๆ เช่น SME หรือ สตาร์ทอัพเกิดใหม่ บางที่เจ้าของกิจการอาจจะต้องทำเองเกือบทุกอยาก รวมไปถึงการขายของ คุยกับลูกค้า ออกเอกสาร วางบิล ก็เป็นไปได้เหมือนกัน
หรือบางคนดำเนินธุรกิจแบบ Solopreneur มาจากคำว่า Solo + Entrepreneur หมายถึงผู้ประกอบการที่ลุยคนเดียวหมดเลย คือทำทุกอย่างเองคนเดียว คิดเอง ทำเอง รวยเองอยู่คนเดียว ซึ่งเป็นเทรนด์ธุรกิจในกลุ่มคนรุ่นใหม่
คุณอยากเป็น Entrepreneur ในธุรกิจประเภทไหน ใน 5 ธุรกิจนี้
ธุรกิจบนโลกเรามีหลายแบบมากมาย ไม่ใช่ว่าคุณต้องเป็น Entrepreneur ที่สร้างธุรกิจใหญ่ๆ เข้าตลาดหลักทรัพย์เท่านั้นถึงจะเรียกว่าประสบความสำเร็จ มาดูไปพร้อมๆ กันว่ามีอะไรบ้าง
1. Small Company – ธุรกิจขนาดเล็ก
ธุรกิจส่วนใหญ่ในแต่ละประเทศจะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก และขนาดกลาง หรือที่เราเรียกว่า SME (Small and Medium Enterprise) ซึ่งถือเป็นสันหลังของ GDP ในเศรษฐกิจ
หลายธุรกิจเริ่มต้นมาจากธุรกิจขนาดเล็ก หรือเป็นธุรกิจครอบครัว โดยเริ่มจากคนๆ เดียว หรือใช้บุคลากรในครอบครัวเดียวกันมาช่วยทำงาน สร้างกำไร และแบ่งสรรปันส่วนกันภายในครอบครัว ซึ่งก็จะมีพนักงานลูกจ้างอยู่ในบริษัทเหมือนกัน แต่ผู้บริหารหลักๆ ก็จะเป็นคนกันเอง และบริหารงานในลักษณะธุรกิจครอบครัว
ตัวอย่างธุรกิจขนาดเล็กเช่น ร้านค้าออนไลน์ โรงแรม ร้านตัดผม ร้านเช่าชุดแต่งงาน บริการจัดเลี้ยงนอกสถานที่ ค้าปลีกท้องถิ่น หรือร้านอาหาร เป็นต้น จริงๆ แล้วเราจะแบ่งว่าธุรกิจนั้นเป็น SME หรือเปล่า จะดูที่ 2 สิ่งหลักๆ คือ จำนวนลูกจ้าง และรายได้ ซึ่งไว้บทความต่อไปเราจะมาเจาะลึกให้
หลายคนพอใจที่จะให้ธุรกิจของตัวเองเป็น SME และไม่มีเป้าหมายในการขยายให้โตกว่านั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด หากเราสบายใจ และมีความสุขที่จะทำใน Scale ขนาดนี้ ก็จงทำต่อไป และทำให้ดีที่สุด
2. Large Company – บริษัทขนาดใหญ่
คือองค์กรขนาดใหญ่ ที่มีความซับซ้อนในการบริหาร และต้องคิดถึงความยั่งยืนขององค์กร โดยในองค์กรขนาดใหญ่จะประกอบไปด้วยผู้บริหารระบบ C-Level ต่างๆ เช่น CEO, CMO, CFO และ COO เป็นต้น
โดยเป้าหมายขององค์กรขนาดใหญ่คือต้องสร้างสินค้าหรือบริการที่ตอบโจทย์คนในวงกว้างได้ หรือจะเรียกว่าต้อง Mass ก็ได้ ซึ่งก่อนที่บริษัทหนึ่งจะโตมาเป็นองค์กรขนาดใหญ่ ก็ล้วนต้องเริ่มจากเล็กๆ ทั้งนั้น แต่ด้วยแนวคิด ทีมงาน และความสามารถในการเข้าถึงตลาดผู้บริโภคจำนวนมาก ทำให้บริษัทเล็กๆ สามารถเติบโตเป็นองค์กรขนาดใหญ่ได้
3. Scalable Startup – สตาร์ทอัพ
องค์กรที่ตั้งตัวเองเป็นสตาร์ทอัพคือองค์กรที่มีเป้าหมายใหญ่กว่าตัวเองมาก ส่วนใหญ่แล้วคือต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนโลก อย่างเช่น Google หรือ Facebook ก็เริ่มมาในลักษณะนี้ หรืออย่างในไทยก็จะมี Wongnai หรือ Ookbee เป็นต้น
สิ่งสำคัญในการสร้างสตาร์ทอัพจึงเป็นการสร้างสินค้า หรือบริการที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ในวงกว้าง กว้างมากพอที่จะสามารถ Scale ธุรกิจให้มีขนาดใหญ่ขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้
สำหรับองค์กรที่เป็นสตาร์ทอัพ การหาเงินเข้าองค์กรในช่วงแรกจะเป็นการได้รับการลงทุนจาก Investor เพื่อขยายฐานผู้ใช้จนสามารถสร้างกำไรได้ในที่สุด
4. Social Enterprise – องค์กรเพื่อสังคม
Entrepreneur ที่สนใจทำธุรกิจเพื่อสังคมจะโฟกัสที่ไปประโยชน์ต่อสังคม หรือต่อส่วนรวม มากกว่าผลกำไร โดยเป้าหมายในการสร้างสินค้าหรือบริการคือการทำให้สังคม หรือโลกใบนี้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น
5. Innovative Entrepreneur – ธุรกิจนวัตกรรม
ตัวอย่างของ Innovative Entrepreneur ที่ชัดเจนคือ Steve Jobs และ Bill Gates
องค์กรที่ให้ความสำคัญกับด้านนวัตกรรมส่วนใหญ่จะผลิตสินค้าด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างเช่น Steve Jobs คิดค้นและผลิต iPod iPhone หรือ iPad ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในโลก
ซึ่งสินค้านวัตกรรมเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตของคนทั่วโลก ดังนั้นสินค้าที่องค์กรเหล่านี้จะผลิตออกมาจะใช้นวัตกรรมนำหน้าเป็นหลัก จะไม่ผลิตสินค้าเดิมๆ ที่คนอื่นผลิตกัน
การเป็นผู้ประกอบการ หรือ Entrepreneur คืออีกหนึ่งอาชีพที่น่าสนใจ และมีความท้าท้ายมากพอสมควร เพราะในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการ คุณคือนายตัวเอง หมายถึงจะเจ๊ง หรือจะรอด ก็อยู่ที่ 2 ขา 2 มือ 1 สมองของคุณ นั่นหมายถึงคุณจะต้องแบกภาระและความเสี่ยงอยู่มากพอสมควร
แต่การเป็นผู้ประกอบการก็มาพร้อมกับความสนุก เพราะคุณจะได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ ลองผิด ลองถูก ได้คุยกับคนมากมาย ได้ทำงานกับคนหลายประเภท ได้เจอทั้งความดีใจเวลาธุรกิจเป็นไปตามแผนที่วางไว้ และได้เจอความเสียใจเวลาอะไรไม่ได้เป็นไปตามที่ตัวเองคาดหวัง ซึ่งอาจจะทำให้ทั้งเสียเงิน เสียเวลา หรือบางครั้งอาจเสียความสัมพันธ์ แต่สุดท้ายก็ต้องลุกขึ้นสู้ต่อไป แก้ปัญหาต่างๆ เพื่อให้อะไรๆ ออกมาดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
Related Posts
References: ownr.co, investopedia.com, indeed, bbc