อีกหนึ่ง Framework ที่ถูกนำมาใช้ในธุรกิจอย่างแพร่หลาย และค่อนข้างเวิร์คมากในการทำความเข้าใจกระบวนการของทั้งองค์กร เพื่อให้เราสามารถ ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทั้งหมด และเพิ่มรายได้จากการสร้างคุณค่า ให้กับขั้นตอนต่างๆ และสินค้า หรือบริการ.. บทความนี้เราจะมาทำความรูจักกันว่า Value Chain คืออะไร.. Value Chain คือ ตารางที่รวมกิจกรรม และกระบวนการในบริษัท ทั้งหมด ตั้งแต่ ฝ่ายบุคคล เทคโนโลยี การจัดซื้อ หาวัตถุดิบ การผลิต การตลาด การขาย ไปจนสินค้าออกไปถึงมือผู้บริโภค โดยจะแยกกิจกรรมออกเป็น 2 ส่วนอย่างชัดเจนเพื่อให้ไม่สับสนคือ
- Support Activity: กิจกรรมที่สนับสนุนบริษัท เช่น การพัฒนาเทคโนโลยี ฝ่ายบุคคล การจัดซื้อ
- Primary Activity: กิจกรรมหลักของบริษัท เช่น การนำวัตถุดิบเข้ามา ผลิต เตรียมจัดจำหน่าย การตลาด การขาย และบริการหลังการขาย เป็นต้น
โดยเป้าหมายสุดท้ายคือ “Margin” หรือการเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทนั่นเอง
เป้าหมายของการทำ Value Chain คือ อะไร
Value Chain ถูกพัฒนาขึ้นโดย Michael Porter ศาสตราจารย์ด้านธุรกิจจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดขึ้นมาตั้งแต่ในช่วงปี 1980s เป้าหมายหลักๆ ของการทำ Value Chain Analysis หรือ ห่วงโซ่แห่งคุณค่า คือ การช่วยให้ผู้ประกอบการ และทีมงานในองค์กรมองเห็นภาพรวมว่า กระบวนการทั้งหมดของบริษัทเรามีอะไรบ้าง แต่ละขั้นตอนเกิดอะไรขึ้นบ้าง ตอนนี้แต่ละกระบวนการเป็นอย่างไร ตรงไหนติดปัญหา ตรงไหนลดต้นทุนได้ หรือเราจะสามารถพัฒนาส่วนไหน เพื่อเพิ่ม Value หรือคุณค่าเข้าไปในองค์กร หรือสินค้าของเรา
ซึ่งการสร้างคุณค่า และปรับปรุงประสิทธิภาพนี้จะช่วยสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับบริษัท และเพิ่มกำไรให้กับบริษัท ทั้งนี้ เรายังสามารถใช้ Value Chain มาวิเคราะห์กระบวนการของคู่แข่งได้ด้วย ว่ากระบวนการทั้งหมดของคู่แข่ง ทำอะไร ทำอย่างไร ตรงไหรบ้างที่คู่แข่งทำได้ดีกว่าเรา ตรงไหนบ้างที่เราควรปรับเพื่อที่จะสร้างคุณค่าให้เหนือกว่าคู่แข่ง
SWOT Analysis ต่างกับ Value Chain Analysis อย่างไร
SWOT คือเครื่องมือที่ทำเพื่อวิเคราะห์ภาพรวม จุดแข็ง จุดอ่อน ของธุรกิจเรา รวมถึงภาพรวมด้านคู่แข่ง และโอกาสทางธุรกิจ ต่างกับ การวิเคราะห์ Value Chain ที่จะโฟกัสเข้ามาที่กระบวนการ และกิจกรรมภายในองค์กรแบบเต็ม เน้นการพัฒนา ลดต้นทุน เพิ่มกำไร และสร้างคุณค่าในองค์กร หรือตัวสินค้าเป็นหลัก
น่าจะเริ่มเห็นภาพรวม และเป้าหมายของ Value Chain กันบ้างแล้ว ทีนี้เรามาเจาะลึกในแต่ละ Activity ใน Value Chain กัน โดยเราจะแบ่งออกเป็น Support Activities และ Primary Activities ซึ่งการเริ่มทำ Value Chain Analysis คือการเริ่มกำหนด 2 ส่วนนี้ ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
การกำหนด Activities ใน Value Chain Analysis
Primary Activities
Primary Activities คือกิจกรรมหลัก ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการผลิตสินค้า หรือเรียกง่ายๆ คือกิจกรรมหลักในการผลิตสินค้า หรือบริการที่ทำรายได้ให้กับบริษัท ในขณะที่ Support Activities คือกิจกรรมสนับสนุนที่จะช่วยให้กิจกรรมหลักออกมาดีขึ้น โดย Primary Activities แบ่งออกเป็น 5 ส่วน มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง
- Inbound Logistics คือ โลจิสติกส์ขาเข้า เรียกง่ายๆ ว่า Input นั่นเอง ซึ่งคือ กระบวนการในการจัดซื้อ จัดหาการขนส่ง รับวัตถุดิบหรือวัสดุมาจากซัพพลายเออร์ รวมไปถึงการเก็บรักษา ควบคุม และตรวจสอบสต็อคสินค้าในโรงงานก่อนที่จะนำมาใช้ผลิตในขั้นตอนต่อไป
- Operations หรือ การผลิต คือ ขั้นตอนในการทำ Input ให้ออกมาเป็นสินค้า หรือบริการ ซึ่งบริษัทควรจะมีวิธีในการควบคุมการผลิต และการให้บริการที่มีประสิทธิภาพเพื่อส่งมอบคุณค่าให้กับลูกค้า
- Outbound Logistics คือ โลจิสติกส์ขาออก เรียกง่ายๆ ว่า Output ของการผลิต ซึ่งหมายถึงการการส่งมอบผลิตภัณฑ์จากสายการผลิตไปยังโกดังสำหรับจัดเก็บ หรือไปยังช่องทางการจัดจำหน่าย ซึ่งขั้นตอนนี้จะรวมไปถึงการรวบรวมและจัดเก็บสินค้า การบริการลูกค้าที่ดี และการกระจายสินค้าด้วยการขนส่งที่ตรงต่อเวลาและมีสินค้าเสียหายน้อยที่สุด
- Marketing and Sales คือ การตลาด และการขาย นำเสนอสินค้า และบริการของบริษัทไปยังกลุ่มเป้าหมายในตลาดเพื่อเพิ่มยอดขายให้กับบริษัท กลยุทธ์ทางการตลาดและการขายที่ดีจะเข้ามามีบทบาทในขั้นตอนนี้
- Services หรือบริการหลังการขาย คือ ขั้นตอนในการดูแลและบริการลูกค้าหลังจากที่ขายสินค้าได้แล้ว เช่น สอนการใช้สินค้าให้กับลูกค้า การรับประกันสินค้า รับคืนของหรือเปลี่ยนสินค้า และบริการซ่อมแซม เป็นต้น
เวลาเราจะสร้างกลยุทธ์มาเพื่อพัฒนาประบวนการ หรือสร้างคุณค่าให้กับสินค้า เราสามารถเลือกได้เลยว่า Activity ไหนที่เราอยากจะทำให้ดีขึ้น เช่น บริษัทต้องการลดการทำงานในขั้นตอน Inbound Logistics เพื่อลดค่าเช่าโกดังจัดเก็บวัตถุดิบ และลดเจ้าหน้าที่โกดัง ในลักษณะนี้อาจจะใช้เทคนิคที่เรียกว่า Just In Time Production เข้ามาใช้ได้ เพื่อลดจำนวนการ Stock ของก่อนเริ่มการผลิต
Support Activities
Support Activities คือกิจกรรมสนับสนุน ถ้าเป็นภาษาที่เราเข้าใจกันง่ายๆ ก็เหมือนงานต่างๆ ที่เป็นเหมือนหลังบ้านของบริษัท ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าโดยตรง แต่เป็นสิ่งที่ช่วยให้การผลิต และการทำงานใน Primary Activities หรือกิจกรรมหลัก ดีขึ้น โดย Support Activities แบ่งออกเป็น 4 ส่วน มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง
- Firm Infrastructure คือ โครงสร้างพื้นฐานขององค์กร การบริหารจัดการขององค์กร การทำงานของแผนกต่างๆ ภายในองค์กร เช่น ฝ่ายการเงิน ฝ่ายกฎหมาย เพื่อทำการวิเคราะห์ข้อมูลและสรุปผลให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถทำการตัดสินใจทางธุรกิจได้อย่างเหมาะสม
- Human Resource Management คือ การบริการทรัพยากรบุคคล เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญมากขององค์กร โดยต้องให้ความสำคัญตั้งแต่การคัดเลือกพนักงานใหม่ และการดูแลพนักงานที่บริษัทมีอยู่ภายในบริษัทอีกด้วย โดยเฉพาะบริษัทที่พนักงานภายในบริษัทต้องให้บริการกับลูกค้าโดยตรงเป็นส่วนใหญ่ การมีพนักงานที่ดีเข้ามาทำงานในบริษัทถือเป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขันที่สำคัญเป็นอย่างมากสำหรับองค์กร
- Technology Development คือ เทคโนโลยีคือสิ่งที่จะช่วยพัฒนาธุรกิจให้ก้าวไปอีกขั้นเนื่องจากสามารถช่วยพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงาน ลดกระบวนการทำงานแบบแมนนวล และยังลดต้นทุนในการผลิตสินค้าอีกด้วย เช่น การเปลี่ยนไปใช้งาน Cloud Computing คืออีกหนึ่งวิธีลดต้นทุนแทนการใช้ Server ส่วนตัว หรือการสร้าง Data Center เองเป็นต้น
- Procurement คือ กระบวนการในการจัดหาวัตถุดิบและวัสดุที่ดีจากซัพพลายเออร์ไว้วางใจได้ ซึ่งเป้าหมายของธุรกิจโดยทั่วไปก็จะเป็นการได้วัตถุดิบที่ดีที่สุดในราคาที่ย่อมเยาที่สุด
ตัวอย่าง Value Chain
ตัวอย่างหน้าตาของ Value Chain เวลาทำก็จะออกมาเป็นประมาณนี้ ซึ่งแน่นอนว่าของจริงจะมีข้อมูลเยอะกว่านี้ แต่ไม่อยากให้เขียนเยอะจนลายตา เพราะจุดประสงค์หลักๆ เราต้องการให้เห็นภาพโดยรวม ถ้าจะลงรายละเอียดค่อยแยกออกไปน่าจะดีกว่า
การวิเคราะห์ Value Chain ของบริษัท เพื่อประเมินคุณค่า และต้นทุนในแต่ละกิจกรรม
การวิเคราห์ Value Chain ช่วยให้ผู้บริหารและผู้จัดการฝ่ายต่างๆ ขององค์กรสามารถมองเห็นภาพรวมของธุรกิจได้ทั้งหมด และเมื่อลองทำ Value Chain ของบริษัท ในแต่ละส่วนได้แล้ว ก็ค่อยๆ ปรับปรุงไปทีละส่วน โดยเริ่มจากส่วนที่แก้ไขได้ง่าย และได้ผลลัพธ์ที่ดีก่อน เมื่อแก้ไขส่วนย่อยเหล่านี้จนเริ่มมีประสบการณ์แล้วก็เริ่มแก้ไขส่วนที่ใหญ่ขึ้นไปอีกได้
Value Chain Analysis ไม่ได้มีสำหรับใครคนใดคนหนึ่งในองค์กร แต่มีสำหรับทุกแผนกในองค์กรที่มีหน้าที่ในแต่ละส่วนภายในบริษัท เพื่อที่จะพูดคุย และปรึกษาหารือกันว่าจะสามารถดำเนินการในแต่ละขั้นตอนของ Value Chain อย่างไรได้บ้างให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับลูกค้า และบริษัท
ทั้งนี้ต้องกำหนดแนวทาง และกลยุทธ์ของบริษัทให้ชัดเจนก่อน เพื่อให้ทั้งองค์กรรู้ว่าเป้าหมายในการสร้างคุณค่า และบริหารต้นทุนนั้นทำเพื่ออะไร ลองมาดูตัวอย่างกันว่ากลยุทธ์ยอดนิยมที่หลายบริษัทใช้มีอะไรบ้าง
ตัวอย่างกลยุทธ์ธุรกิจเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
- Cost Leadership คือ กลยุทธ์ในการเป็นผู้นำด้านต้นทุน โดยการเพิ่มคุณค่าในกิจกรรมต่างๆ จะเน้นด้านการลดต้นทุนเป็นหลัก
- Differentiation คือ กลยุท์ในการทำธุรกิจให้แตกต่าง ซึ่งการพัฒนา และสร้างคุณค่า ก็จะเน้นไปในด้านการทำสินค้า หรือบริการให้ออกมาแตกต่าง เป็นต้น
ทั้งนี้เพื่อให้บริษัทมีความได้เปรียบในการแข่งขัน จากนั้นก็ทำการวิเคราะห์ต้นทุนว่าส่วนไหนบ้างที่ใช้ต้นทุนมากกว่าปกติ และสามารถที่จะลดต้นทุนได้อย่างไรบ้าง เช่น ต้นทุนแรงงาน ต้นทุนวัตถุดิบ เป็นต้น หรือจะปรับวัตถุดิบ เทคโนโลยี บริการหลังการขาย อย่างไร เพื่อให้แตกต่างจากคู่แข่ง
Framework นี้สามารถนำไปปรับใช้ได้ทั้งในองค์กรขนาดใหญ่ ธุรกิจ SME หรือแม้กระทั้งธุรกิจส่วนตัว ซึ่งจะช่วยเพิ่ม Competitive Advantage ให้ธุรกิจได้ จากการสร้างคุณค่าให้สินค้า ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทั้ง Primary Activities และ Support Activities